ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางวนิดา จันทนทัศน์

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             นางวนิดา จันทนทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย
                                              อดีตเลขานุการโครงการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สัมภาษณ์ :                     นางศิริเพ็ญ น้าสกุล

วันที่สัมภาษณ์ :               วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

ศิริเพ็ญ :          วันนี้เราอยู่กับเลขานุการสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านแรก คุณวนิดา จันทนทัศน์ สวัสดีค่ะ พี่วนิดา

 

วนิดา :            สวัสดีค่ะ

 

ศิริเพ็ญ :          ไม่ทราบว่าพี่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยตั้งแต่เมื่อไรคะ

 

วนิดา :            เรื่องของสมาคมจดหมายเหตุไทย เริ่มมาจากนายกสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านแรกคือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริท่านเป็นประธานโครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ดิฉันเป็นเลขานุการโครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เลยต้องทำงานกับท่านมาตั้งแต่แรก โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ๒๕๔๓ ท่านมาริเริ่มก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย เมื่อปี ๒๕๔๓ ช่วงนั้นเป็นเรื่องของคณะก่อการที่เริ่มทำกันขึ้น แต่ว่าหอจดหมายเหตุไทยเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๔ จดทะเบียนตามระเบียบที่สันติบาล ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ The Association of Thai Archives อันนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่ข่าวสารทั้งหลายมันเป็นที่รับรู้ของสังคมในช่วงนั้น สถาบันต่างๆ เลยเคลื่อนไหวที่จะประสานงานกันให้มีหอจดหมายเหตุขึ้น หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันเรื่องนี้ขึ้น เพื่อเสนอปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่มีปัญหา เช่น เรื่องงบประมาณ อัตรากำลัง บุคลากรที่ไม่มีความรู้จดหมายเหตุเลย หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เลยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหน่วยงานจดหมายเหตุขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ซึ่งรายชื่อผู้ก่อการสมาคมจดหมายเหตุไทย คือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, พญ.กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, ดร.สมสรวง พฤติกุล, คุณกรรณิกา ชีวภักดี จากกรมประชาสัมพันธ์, คุณขนิษฐา วงศ์พาณิช จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ,  ดิฉันวนิดา จันทนทัศน์, คุณโดม สุขวงศ์ จากหอภาพยนตร์, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ จากหนังสือพิมพ์ต้นฉบับซึ่งเป็นเอกชนแห่งเดียว และคุณสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรามีการประชุมเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ ร่างระเบียบสมาคมฯ และเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ มีกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี มีการจัดประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี  วัตถุประสงค์ ซึ่งสังเคราะห์มาได้เพื่อให้เข้าใจง่าย มี ๘ ข้อ คือ

๑. เพื่อรวมกลุ่มบุคลากรและองค์กรวิชาชีพจดหมายเหตุเป็นสื่อประสานงานกลางให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานจัดการจดหมายเหตุดำเนินงานขององค์กร

๒. ส่งเสริมผลักดันการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยวิชาการด้านจดหมายเหตุ และระบบงานจัดเก็บเอกสาร ถ้ามีการจัดเก็บเอกสารดีก็จะสะดวกอย่างมากของระบบงานจดหมายเหตุของแต่ละหน่วยงาน

๓. เพื่อประสานข้อตกลงร่วมมือในการจัดระเบียบมาตรฐานการจัดเก็บ การอนุรักษ์ ระบบจัดการจดหมายเหตุ และเอกสารข้อมูลทุกรูปแบบที่ยังคงอยู่ในกระแสการใช้งาน

๔. เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจงานจดหมายเหตุ

๕. เพื่อสนับสนุนเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ในการปฏิบัติงานบุคลากรด้านจดหมายเหตุด้วยการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

๖. เพื่อประสานสัมพันธ์กับนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักการศึกษา นักประวัติศาสตร์

๗. เพื่อประสานความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรจดหมายเหตุร่วมกัน

๘. เพื่อประสานสัมพันธ์ และร่วมมือกันกับองค์กรหอจดหมายเหตุระหว่างประเทศและหอจดหมายเหตุในต่างประเทศ

                   เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์

 

ศิริเพ็ญ :          ในการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุไทยในช่วงแรก มีลักษณะการดำเนินการอย่างไรบ้าง

 

วนิดา :            คืองานช่วงแรก เหมือนเป็นงานที่ค่อนข้างอาสาสมัครจริงๆ และกรรมการทุกท่าน ก็มีภารกิจในหน่วยงานค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเนื้องานส่วนใหญ่จะอยู่ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ขณะนั้นดิฉันเป็นเลขานุการของโครงการจดหมายเหตุเหมือนกับทำทุกหน้าที่ที่เป็นงานของสมาคมจดหมายเหตุ ตั้งแต่จัดประชุม ประชุมของคณะกรรมการ ประชุมสามัญประจำปี และดำเนินการหาทุนคือทำทุกหน้าที่ที่เป็นงานของสมาคมจดหมายเหตุ โดยที่จะมีนักจดหมายเหตุของโครงการและมีฟรีแลนซ์ ที่เราจ้างมา เขาจะช่วยประสานงานทั้งหมดและงานที่จัดครั้งแรกๆ  เนื่องจากท่านนายกสมาคมจดหมายเหตุท่านเป็นกรรมการของมูลนิธิโตโยต้าด้วย เพราะฉะนั้นเราได้เงินสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้าพอสมควรสำหรับโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เอางานของหอจดหมายเหตุ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาประจำปีของมูลนิธิโตโยต้า เราก็ได้อาศัยส่วนนั้นจัดงานขึ้นมาโดยที่เราไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ของสมาคมฯ มากนัก

 

ศิริเพ็ญ :          ตลอดการดำเนินงาน ๒๐ ปีของสมาคมจดหมายเหตุไทย ไม่ทราบว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างคะ

 

วนิดา :            แรกๆ งานมันเล็กๆ ก็ยังไม่ค่อยมีอะไร แต่หลังจากนั้นมีการขยายงานมากขึ้น ก็มีเรื่องของทุน ซึ่งเราเป็นหน่วยงานที่เล็กๆ เรียกว่ายังไม่เป็นที่สนใจของธุรกิจมากนัก การหาทุนอะไรค่อนข้างลำบาก เราก็ใช้เงินส่วนหนึ่งจากเงินสมาชิกซึ่งน้อยมาก แต่ว่าส่วนหนึ่งนายกคนปัจจุบัน คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ก็แนะนำให้ไปขอเงินจากกองสลาก ได้มาจัดงานครั้งแรก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ปีต่อมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งเราเคยเปิดตัวแผนที่โบราณสยามประเทศไป พิมพ์แผนที่มอบให้ และให้ทุนสนับสนุนบ้าง และมีหน่วยงานบางแห่งซึ่งอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ขอเงินมาได้บ้าง เช่น บางจาก พอที่จะดำเนินการมาได้เรื่อยๆ และไปจัดตามต่างจังหวัด แม้แต่ดูงานต่างประเทศเราเคยจัดไปดูงานที่หอจดหมายเหตุ มาเลซียและสิงคโปร์ ครั้งหนึ่งในช่วงประชุมใหญ่สามัญประจำปีเราจัดสม่ำเสมอและจัดหลายวัน เนื่องจากท่านนายกสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านเป็นกรรมการของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้นเราได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้าเพื่อจัดกิจกรรมของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทุกปี เราจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมนี้ทำให้การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมจดมายเหตุไทยในสมัยนั้นได้มีการจัดไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ทุกปี  เช่น ๒๕๔๗ จัดที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ, ๒๕๔๘ จัดที่โรงแรมเพิร์ล ร่วมกับราชภัฏ ภูเก็ต, ๒๕๔๙ จัดที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี, ๒๕๕๑ จัดที่โรงแรมนครพนมริเวอร์วิว ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม ปีนี้เป็นปีที่เราเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นสมาคมจดหมายเหตุสยาม, ๒๕๕๒ จัดที่โรงแรมเวียงอินน์ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ๒๕๕๓ จัดที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ซังฮี้ และจัดภาคสนามที่จันทบุรี ตราดและเกาะกง กัมพูชา

หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นจดหมายเหตุสยาม เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ซึ่งท่านนายกสมาคมฯ ท่าน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่านรณรงค์ให้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยาม ท่านให้นโยบายดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นจดหมายเหตุสยามด้วย ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อหลักการของการสมานฉันท์ การยอมรับความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษาอัตตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เดิมเราชื่อประเทศสยาม เราเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นไทย เมื่อปี ๒๔ มิถุนายน  ๒๔๘๒ ท่านจะให้กลับไปใช้ชื่อเหมือนเดิม ดิฉันในฐานะที่เป็นเลขานุการก็ดำเนินตามที่ท่านมอบหมายมา ก็ไปเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนใช้เวลาค่อนข้างมาก ต้องไปที่กระทรวงมหาดไทย ที่ที่เปลี่ยนคือวังไชยานางเลิ้ง ทะเบียน ไปหลายรอบมากจนได้เปลี่ยนเป็นสมาคมจดหมายเหตุสยามก็ใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่นั้นจนถึง น่าจะประมาณ ๒๕๖๐–๖๑ จนเปลี่ยนเป็นสมาคมจดหมายเหตุไทยอีกครั้งหนึ่งสมัยที่คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ มารับตำแหน่ง

 

ศิริเพ็ญ :          ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยจะดำเนินงานครบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน นี้ อยากให้พี่วนิดาให้ข้อคิดและอวยพรให้สมาคมฯ ค่ะ

 

วนิดา :            สมาคมจดหมายเหตุไทยตั้งมา ๒๐ ปี อยากให้สมาคมนี้เป็นองค์กรนี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ช่วยสนับสนุน เป็นตัวอย่างของการจัดทำมาตรฐานจดหมายเหตุ ระบบจัดเก็บเอกสารซึ่งเป็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการบริหารงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ถ้าเรามีระบบจัดเก็บเอกสารดีเป็นระบบ ทำให้เราสามารถรู้ที่มาที่ไปขององค์กรที่เราเป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ช่วยในการบริหารงานของหน่วยงานทั้งหลายจะได้มีสิ่งที่อ้างอิงและวางแผนในอนาคตต่อไปได้ด้วย

 

ศิริเพ็ญ :          สุดท้ายนี้สมาคมจดหมายเหตุไทย ขอขอบพระคุณพี่วนิดา จันทนทัศน์ ที่มาให้ความรู้และเกร็ดของสมาคมในวันนี้

 

วนิดา :            ยินดีค่ะ


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *