ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดยนางสาวกรรณิกา ชีวภักดี

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : นางสาวกรรณิกา ชีวภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย
                                และอดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับคุณกรรณิกา ชีวภักดี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย และอดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย สวัสดีค่ะ

 

กรรณิกา :         สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           อาจารย์เข้ามาทำงานกับสมาคมฯ ตั้งแต่เมื่อไรและเข้ามาได้อย่างไรคะ

 

กรรณิกา :  ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ขณะนั้นกำลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งสมาคมจดหมายเหตุไทยก่อตั้งหลังพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ๑ ปี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล อาจารย์สอนและบริหารงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ให้ไปช่วยกันก่อตั้งสมาคมฯ ตอนนั้นกำลังทำงานที่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ อาจารย์กรุณาเสียสละเวลาเดินทางไป ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เพื่อบรรยายและทำความเข้าใจให้กับบุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นได้ทราบว่า จดหมายเหตุคืออะไร ในองค์กรของเรามีอะไรที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุบ้าง  ต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากันอย่างไร ซึ่งขณะนั้น (ปี ๒๕๔๓) คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวของหอจดหมายเหตุแม้แต่ผู้บริหาร มีหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ทำไมเราถึงต้องมีหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่ออาจารย์เดินทางไปบรรยายให้ความรู้ทางด้านจดหมายเหตุ  ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองผลิตและไม่ได้จัดเก็บและลบทิ้งไป ทำให้เราสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากในขณะนั้น  อาจารย์เมื่อช่วยเราทำงานแล้ว อาจารย์บอกว่าให้มาช่วยงานสมาคมจดหมายเหตุไทย ก็ยินดีตามที่อาจารย์ให้ไปช่วย ทำไปทำมาจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา ๒๐ ปี แล้วค่ะ ต้องขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ ท่าน รศ.ดร.สมสรวง พฤติกุล เป็นอย่างสูงที่ได้เปิดโอกาสให้มาร่วมงานกับสมาคมจดหมายเหตุไทยและได้เปิดโลกทัศน์งานจดหมายเหตุให้กับพวกเรา

 

วิยะดา :           อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย

 

กรรณิกา :         ต้องย้อนเวลาไปเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว รู้สึกดีใจ ยินดี และอยากให้มีอย่างยิ่ง เพราะว่าเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น ฟิลิปปินส์เค้าก็มีสมาคมนักจดหมายเหตุจดหมายเหตุ เรียก SFA ก่อตั้งปี ๒๕๓๓ ต่อมาเขาก็มีสมาคม SOFIA เป็นสมาคมที่รวมตัวของนักจดหมายเหตุด้านภาพยนตร์ ก่อตั้งปี ๒๕๓๖ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็มีสมาคม SEAPAVAA หรือสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค ก่อตั้งปี ๒๕๓๙ ประเทศไทยถือว่าเป็นบ้านเกิดของสมาคม SEAPAVAA เลยนะคะ เพราะว่าตอนนั้นสมาคมฯ นี้มาเขียนธรรมนูญหลักกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสมาคมฯ ที่ประเทศไทยโดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพ ในปี ๒๕๓๘ สมัยนั้นก็เป็น สมัยคุณเตือนใจ สินธุวณิก ช่วยทำให้เกิดสมาคม SEAPAVAA กับภูมิภาคนี้ ถ้ามองไปอีก ถ้าเป็นสมาคมของนักจดหมายเหตุ ที่เรียกว่าสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ หรือ ICA ก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสมาคมจดหมายเหตุไทยในปี ๒๕๔๔ ก็รู้สึกว่าดีนะที่ประเทศไทยจะได้พัฒนางานจดหมายเหตุให้มีมาตรฐานและมีแหล่งที่จะชุมนุมวิชาการร่วมกันของคนในประเทศ

ขณะเดียวกันสมาคมจดหมายเหตุไทยก็ช่วยหลายอย่างกับตัวดิฉันเอง เช่น ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานในระยะแรกของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ดิฉันเองก็เป็นนักจดหมายเหตุมือใหม่ ถึงแม้จะเรียนมาบ้าง ผ่านการปฏิบัติงานภาคสนามมาบ้าง แต่ว่ายังมีประสบการณ์น้อยกว่านักจดหมายเหตุมืออาชีพเยอะเลย เพราะฉะนั้นเพื่อนในวงการนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะได้มีการแลกประสบการณ์ ความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้การทำงานของเราไม่โดดเดี่ยว ในขณะเดียวกันการเข้ามาทำงานกับสมาคมจดหมายเหตุไทยเหมือนกับการเล่นการเมืองในองค์กร เพราะว่าการที่เราได้เข้ามาทำงานเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริหารองค์กรได้ให้งบประมาณ และยอมให้ทำงานด้านการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ ถ้าจะดูแล้วเหมือนกับเป็นการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ เพราะว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งองค์กรผลิตสื่อโสตทัศน์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงมากมายมหาศาล ถ้าเรารู้จักเก็บจะเป็นคลังจัดเก็บมรดกโสตทัศน์ที่สำคัญของประเทศ

 

วิยะดา :           การทำงานกับสมาคมฯ ในช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง

 

กรรณิกา :         ตอนนั้นท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เองท่านดำรงตำแหน่งประธานโครงการสมาคมจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มีอาจารย์วนิดา จันทนทัศน์ เป็นเลขานุการของโครงการฯ เพราะฉะนั้นในการทำงานของสมาคมฯ ตอนนั้นทั้ง ๒ ท่านจะทำงานด้วยกัน เนื่องจาก อาจารย์วนิดา จันทนทัศน์ จริงๆ แล้วโดยตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุกาสมาคมฯ มีคุณโดม สุขวงศ์ เป็นเลขานุการของสมาคมจดหมายเหตุไทย แต่ในเชิงของการปฏิบัติงานแล้วอาจารย์วนิดา เปรียบเป็นเลขานุการของสมาคมฯ อาจารย์จะไหว้วานให้อาจารย์วนิดาทำงาน ต่อมาก็มีคุณดาวเรือง แนวทอง อีกท่านหนึ่งเป็นบุคลากรของโครงการจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เช่นกันและมาเป็นกรรมการของสมาคมฯ ในชุดที่ ๒ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานแล้ว ส่วนใหญ่แล้วทั้งสามท่านจะทำงานด้วยกัน ส่วนตำแหน่งที่มีอยู่ทางสมาคมฯ เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งขึ้น อย่างตัวดิฉันเองเป็นเหรัญญิกคนแรกของสมาคมฯ แต่ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับการเงิน ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายทะเบียนก็ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับทะเบียนเป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำงานของสมาคมฯ เป็นการช่วยกันทำงาน และถ้าหากอาจารย์ต้องการให้ใครทำอะไรอาจารย์จะไหว้วานเป็นครั้งคราว การที่เรามีนายกสมาคมฯ มีบทบาทหลายอย่าง

นอกจากบทบาทดังกล่าวแล้ว ตัวท่านอาจารย์เองยังเป็นเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ทำให้การจัดงานของสมาคมจดหมายเหตุไทย การประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมทางวิชาการเราก็อิงกับโครงการนี้ เวลาจัดงานแต่ละครั้งอาจารย์ไม่หวังในเรื่องของกำไร ถ้าหากสมาคมฯ มีเงินเยอะ ได้รับความช่วยเหลือมา อาจารย์จะผลิตหนังสือ เช่น จดหมายข่าวผลิตเพื่อที่จะแจกจ่ายให้กับสมาชิกเวลาเข้าประชุม เป็นจดหมายข่าวที่มีคุณค่ามาก นอกจากนั้นอาจารย์ยังผลิตแผนที่แจกผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นแผ่นที่เก่าที่ทุกคนอยากได้ นอกจากนั้นอาจารย์ริเริ่มให้มีเว็บไซต์ของสมาคมฯ ขณะเดียวกันสมาคมจดหมายเหตุไทยจัดสัมมนาสัญจรสู่ภูมิภาค โดยที่อาจารย์เองไม่ชอบหยุดนิ่งอยู่กับที่ อาจารย์ก็จะพาเราออกไปประชุมตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้สมาคมฯ ยังมีความคิดริเริ่มในการอบรมทางวิชาการ ตอนนั้นมี ท่าน รศ.ดร.สมสรวง พฤติกุล เป็นประธานสายวิชาการ ท่านจัดอบรมครั้งแรกหลักสูตรการบริหารงานจดหมายเหตุ โดยร่วมกับ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมกับจัดทำคู่มือการอบรมหลักสูตรการบริหารงานจดหมายเหตุด้วยในปี ๒๕๕๐ ส่วนในการประชุม สมาคมฯ เราไม่ได้หวังกำไร ฉะนั้นในการประชุมถ้าหากกล่าวถึงกำไร จำได้แม่นเลยนะคะ อาจารย์จะพูดว่า อย่ากินเลย ปลาซิวปลาสร้อย ให้กินปลากะพงดีกว่า

 

 

วิยะดา :        พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ให้ความร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรบ้าง

 

กรรณิกา  :        กรมประชาสัมพันธ์ผลิตสื่อโสตทัศน์เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นเราเลยพยายามช่วยสมาคมฯ หาวิทยากรที่จะมาจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเกี่ยวกับสื่อโสตทัศน์เราหาวิทยากรมาให้ วิทยากรชาวต่างชาติ จากไต้หวันเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๖๐ เราริเริ่มให้กับสมาคมฯ จัดงานวันจดหมายเหตุสากล วันที่ ๙ มิถุนายน เริ่มครั้งแรกปี ๒๕๕๘ ร่วมกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดงานในวันจดหมายเหตุสากล  ปี ๒๕๕๗ เว้นว่าง กำลังเปลี่ยนผ่านจากนายกคนเดิมสู่นายกคนที่ ๒ ของสมาคม คือ ท่านธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เราช่วยเหลือสมาคมฯ โดยร่วมกับหอภาพยนตร์ จัดงานวันมรดกโสตทัศน์โลกแห่งประเทศไทย เราให้เวลากับสมาคมส่วนหนึ่งในการจัดสัมมนาทางวิชาการและประชุมประจำปีด้วย กรมประชาสัมพันธ์ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์เวลาเราจัดกิจกรรมอะไรที่สำคัญเราจะเชิญสมาคมจดหมายไทยเข้าร่วมในการจัดงานด้วยเป็นครั้งคราว อย่างเช่น จัดงาน ๖๐ ปีโทรทัศน์ไทยเราก็เชิญสมาคมจดหมายเหตุไทยร่วมจัดงานด้วย

การประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ช่วยส่งเสริมสมาคมจดหมายเหตุไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมทั้งในประเทศและในต่างประเทศด้วยค่ะ อย่างเช่น การประชุมกับ SEAPAVAA และ AMIA ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา ในปี ๒๕๔๖ ตอนนั้นครบ ๓๐ ปี ๑๖ ตุลา ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ผลิตสื่อเกี่ยวกับ ๑๖ ตุลา ท่านเมตตาให้นำสื่อนั้นไปเผยแพร่ให้ฟรี เรานำสมาคมจดหมายเหตุไทยออกเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ นี่เป็นบทบาทที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ทำงานร่วมกับสมาคมจดหมายเหตุไทย ถึงแม้นว่าปัจจุบันจะเกษียณจากกรมประชาสัมพันธ์แล้วยังช่วยงานสมาคมฯ ขณะนี้ยังร่วมกันกับคณะกรรมการท่านอื่นๆ ของสมาคมฯ จัดทำโครงการประวัติศาสตร์บอกเล่า ในโอกาส ๒๐ ปีสมาคมจดหมายเหตุไทย ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ตอนนี้ในช่วงโควิด-๑๙ การจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่าของเราจัดทำแบบรวบรัด ท่านสามารถติดตามผลงานของสมาคมจดหมายเหตุไทยได้ต่อไป

 

วิยะดา :           มุมมองของอาจารย์ต่องานจดหมายเหตุไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

กรรณิกา :     งานจดหมายเหตุในปัจจุบันมีอยู่ ๒ แบบ คือจดหมายเหตุแบบดั้งเดิมหรือ Traditional Archives ในรูปของกระดาษก็เห็นเป็นกระดาษ ไปเลยหรือในรูปสื่อโสตทัศน์เช่น ฟิล์มภาพยนตร์ หรือรูปเทป magnetic ภาพเคลื่อนไหว เช่น เทป U-matic เทป ๒ นิ้ว เทป ๑ นิ้ว วิดีโอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ล้าสมัยไปแล้ว รวมถึงการจัดเก็บซีดี การจัดเก็บเสียงในคลาสเซทเทป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจดหมายเหตุแบบดั้งเดิม ที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บ ต้องพยายามนำสื่อแต่ละชนิดหรือเอกสารที่เป็นการะดาษไปสแกนเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างในการจัดเก็บให้เป็นดิจิทัลให้หมด ในขณะเดียวกันมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อย่างดี เช่น หอภาพยนตร์ จัดเก็บฟิล์มได้ดี ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ผลิตต่างๆ ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ในการแปลงระบบจากดั่งเดิมอนาล็อกให้เป็นดิจิทัลแล้ว ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญทำให้ข้อมูลในรูปอนาล็อกหายไปจากสังคมได้ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจุบันคือจดหมายเหตุที่เป็นดิจิทัล มีหน่วยงานที่ทำงานเอกสาร โดยเฉพาะการผลิตสื่อโสตทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือเป็นรูปแบบดิจิทัลหมด  ดังนั้นสิ่งที่ผลิตออกมาได้ไฟล์ที่เป็นดิจิทัล แต่น่าเสียดายที่หลายองค์กรไม่มีหลักเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าของ เอกสารดิจิทัลที่ผลิตขึ้นเพื่อที่จะจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัลขึ้นมา ทำให้การผลิตอย่างเสรี มีการเลือกเก็บหรือไม่เก็บอย่างเสรีทำให้ไฟล์ถูกลบออกไปได้อย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้น นักจดหมายเหตุเองจะต้องเรียนรู้เรื่องของการจัดเก็บในระบบดิจิทัลว่าจะต้องจัดเก็บอย่างไร ขณะเดียวกันสถานที่ในการจัดเก็บต้องมีทุน สร้างที่จัดเก็บไหม พื้นที่จัดเก็บมี back up ไหม พื้นที่ในการจัดเก็บควรสักเท่าไร คุณภาพไฟล์ที่จัดเก็บจะเป็นเช่นไร  ความปลอดภัยของเครื่องมือในการจัดเก็บ ที่จัดเก็บ และตัวไฟล์ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักจดหมายเหตุต้องคำนึงถึง

หลักเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญมาก ที่จะบ่งบอกว่า ข้อมูลที่มีหลากหลายนั้นอันไหนเป็นข้อมูลสำคัญที่เป็นข้อมูลจดหมายเหตุที่จะจัดเก็บไว้ให้ลูกหลานต่อไป ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการสื่อสารอย่างมือถือเข้ามาเปลี่ยนสภาพในการสื่อสารอย่างเดียว สามารถพิมพ์ข้อความได้ สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ ถ่ายภาพนิ่งได้ ยังเป็นเครื่องบันทึกเสียงได้อีก สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการสื่อสารในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเป็นที่นิยมของคนทุกวัย ส่วนใหญ่การสื่อสารผ่านช่องทางที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย มีทั้ง Facebook Page, Youtube, Twitter, Instagram แล้วแต่ใครจะเลือกช่องทางไหน โดยเฉพาะ Line สิ่งเหล่านี้ข้อมูล เมื่อผลิต (บันทึก) แล้วจะเผยแพร่กันเลยเมื่อเผยแพร่แล้วทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนพลเรือน (Citizen Journalist) ได้ ขณะเดียวกันทุกคนสามารถเป็นนักจดหมายเหตุประชาชน (Citizen Archivist) ได้ สามารถที่จะสร้างสรรค์และก็สะสมมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ได้ ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นรู้ช่องทางในการผลิต ในการคัดเลือกและในการจัดเก็บอย่างถูกวิธี นักจดหมายเหตุเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดิจิทัลแล้ว ท่านยังต้องส่งความรู้เหล่านี้ออกสู่ประชาชน อีกหน่อยก็ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับนักจดหมายเหตุระดับองค์กรเท่านั้น แต่เป็นภาคประชาชนที่เราจำเป็นจะต้องเผยแพร่การจัดเก็บเพื่อให้สิ่งที่ผลิตเป็นจดหมายเหตุได้อย่างสมบูรณ์ และทำอย่างไรนักจดหมายเหตุถึงจะแยกกากเอาแก่นออกมาได้เพราะข้อมูลหลากหลายทั่วทิศทั่วทางมาก

 

วิยะดา :           อะไรคือความคาดหวังของอาจารย์ต่อสมาคมจดหมายเหตุไทย

 

กรรณิกา :    ในโอกาส ๒๐ ปีสมาคมจดหมายเหตุไทยต้องขอกราบขอบพระคุณท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ท่านเห็นคุณค่าของเอกสารชั้นต้นและก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น และสมาคมฯ นี้ ดำเนินงานมาจนถึง ๒ ทศวรรษ ในโอกาสนี้ขอขอบพระคุณสมาชิกทุกๆ ท่านรวมถึงกรรมการที่เคยทำงานด้วยกันไม่ว่าชุดไหน ช่วยกันสืบสานต่องานของดร.ชาญวิทย์ที่ทิ้งไว้ให้เรา สำหรับในชุดนี้เรามีกรรมการที่เป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นคนรุ่นใหม่กันเยอะ ก็หวังว่าสมาคมจดหมายเหตุไทยจะได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าและยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของนักจดหมายเหตุ พวกเราคณะกรรมการชุดใหม่ทั้ง ๑๙ คน ก็พยายามที่จะจัดกิจกรรมวิชาการความรู้ต่างๆ ให้กับสมาชิกทุกคน และหวังว่าสมาชิกทุกท่านก็คงจะอยู่คู่กับสมาคมจดหมายเหตุไทยและช่วยกันอนุรักษ์ สงวนรักษาข้อมูลจดหมายเหตุเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้งาน ศึกษา ค้นคว้ากันต่อไปค่ะ

 

วิยะดา :        สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์กรรณิกา ชีวภักดี ที่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ได้กรุณาให้เกียรติมาสัมภาษณ์โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยครบรอบ ๒๐ ปีค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

กรรณิกา :         ด้วยความยินดีค่ะ 


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *