ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม   ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย                                                      และอดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ผู้สัมภาษณ์ :                      นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์ :                วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับท่านสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม หรือพี่แม็ค อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, รองอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เคยเป็นกรรมการของสมาคมฯ และที่ปรึกษาสมาคมฯ สวัสดีค่ะ

 

สุรีย์รัตน์ :         สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           ท่านเข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมฯ ตั้งแต่ปีไหนถึงปีไหน รวมเป็นระยะเวลาเท่าไรคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ตอนที่ร่วมงานกับสมาคมฯ พี่ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๙–๒๕๕๕ ก่อนที่จะไปกรมศิลปากรค่ะ

 

วิยะดา :           ใครเป็นผู้ทาบทามให้มาร่วมก่อการ

 

สุรีย์รัตน์ :         อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  เป็นนายกสมาคมฯ อาจารย์มาติดต่อมาประสานงานร่วมกัน มาประชุมร่วมกัน อาจารย์ก็ได้เชิญให้เป็นกรรมการค่ะ

 

วิยะดา :           ในช่วงเริ่มก่อตั้งบุคคลากรในหอจดหมายเหตุแห่งชาติมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไร

 

สุรีย์รัตน์ :         ในความคิดของพี่เอง มีความรู้สึกว่าการที่หน่วยงานของราชการได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีความเข้าใจและมีความสนใจงานจดหมายเหตุ พี่คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่เราจะได้ร่วมกันทำงานและเผยแพร่งานจดหมายเหตุสู่ประชาชนทั่วไป เพราะงานนี้ยังไม่ค่อยมีคนเข้าใจ ว่างานจดหมายเหตุทำอะไร มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้บ้าง พี่คิดว่าเป็นงานที่ควรจะทำร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาร่วมมือกันเผยแพร่งานจดหมายเหตุนี่ค่ะ

 

วิยะดา :           ในความเห็นของท่าน ท่านมองสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ก็ดีนะคะ ในระยะที่พี่เริ่มมาทำงานเราก็มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประชุมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับงานจดหมายเหตุให้กับประชาชนโดยทั่วไปที่สนใจ โดยได้วิทยากรจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีกิจกรรมร่วมกันและมีการออกวารสารที่ให้ความรู้และมีข้อมูลรายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งบรรดาสมาชิกก็จะได้เอกสารเหล่านี้ไปได้เรียนรู้มีประโยชน์มากเลยค่ะ

 

วิยะดา :           ในสมัยนั้นหอจดหมายเหตุแห่งชาติร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรบ้าง

 

สุรีย์รัตน์ :         ก็มีด้านวิชาการ ได้ให้ความร่วมมือในการให้สถานที่ ให้วิทยากรที่จะร่วมกิจกรรมในการจัดประชุมสัมมนา และมีการเชิญชวนให้เป็นสมาชิกกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านจดหมายเหตุ

 

วิยะดา :           มุมมองของท่านต่องานจดหมายเหตุไทยในปัจจุบัน ท่านเห็นอย่างไร

 

สุรีย์รัตน์ :         ในปัจจุบันนี้ยังอยากให้มีเอกสารจดหมายเหตุ ยังทำอยู่ใช่ไหมคะ อยากให้มีเอกสารจดหมายเหตุ และเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์  โดยเฉพาะอยากให้มีนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่ให้ความสนใจและเข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ

 

วิยะดา :           ความคาดหวังของท่านต่อสมาคมจดหมายเหตุไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

 

สุรีย์รัตน์ :         ความคาดหวังอยากให้มีงานต่างๆ ที่จะเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุหรืองานจดหมายเหตุให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อยากให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงคุณค่าของเอกสารจดหมายเหตุ ให้เข้ามาใช้กันมากๆ ได้ศึกษาได้เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเอกสารจดหมายเหตุถือว่าเป็นความรู้ที่จะทำให้ประชาชนหรือนิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้อดีตของตัวเอง จะมีความรักความเข้าใจในบรรพบุรุษของเรา ที่ได้สร้างสรรค์งานที่ออกมาในรูปเอกสาร อยากให้มีความซาบซึ้งและเข้าใจและได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

วิยะดา :           มีอะไรที่ท่านจะฝากถึงนักจดหมายเหตุในรุ่นปัจจุบันบ้างคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         นักจดหมายเหตุรุ่นปัจจุบัน ทางสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็พยายามที่จะจัดกิจกรรม ซึ่งในปีต่อๆ ไปในงบประมาณต่อๆ ไป จะมีการประชุมสัมมนาให้ความรู้ พยายามกระตุ้นให้นักจดหมายเหตุได้มีความรู้อย่างกว้างขวางในงานจดหมายเหตุ และพยายามที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานจดหมายเหตุ ในส่วนของนักจดหมายเหตุที่สังกัด ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เขาจะได้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะว่านักจดหมายเหตุรุ่นเก่าๆ ได้เกษียณอายุราชการกันไปหลายๆ ท่านแล้ว  เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาบรรจุใหม่ เขายังไม่เคยเรียนรู้งานจดหมายเหตุ ในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองจบได้มา การทำงานจดหมายเหตุต้องมาฝึกฝน มีการอบรมจากผู้รู้ คือ พี่ๆ ที่เกษียณไปแล้วให้น้องๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจ เหมือนการสืบทอดถ่ายทอดงานจดหมายเหตุจากรุ่นสู่รุ่น เขาจะได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง อันนี้สำคัญที่สุดและได้เห็นคุณค่า มีความรักในเอกสาร มีความรักในงานที่ทำ

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ขอบพระคุณพี่แม็คเป็นอย่างสูงที่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ร่วมให้ความรู้และทำงาน วันนี้ยังให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับสมาคมจดหมายเหตุไทย ขอบคุณค่ะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ยินดีค่ะ


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *