ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             : นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
                                             ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ                                          

วันที่สัมภาษณ์ :             วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


สวัสดีครับ ผมบัญชา พงษ์พานิช ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ขอร่วมเฉลิมฉลองในวาระที่สมาคมจดหมายเหตุไทยมีโอกาสครบ ๒๐ ปี ในปี ๒๕๖๔ นี้ครับ

 

สำหรับการที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้มามีส่วนร่วมกิจกรรมกับสมาคมจดหมายเหตุไทย  ก็เป็นเรื่องปกติเมื่อเราเริ่มขึ้นเราก็อยากหามิตร  แล้วมิตรที่สำคัญของประเทศไทยในแวดวงจดหมายเหตุมีเพียงสองที่ คือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสมาคมจดหมายเหตุไทย หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงเป็นสมาชิกสมาคมฯ ตั้งแต่ต้นแล้ว

 

มีคำถามมายังผมว่าทำไมถึงได้มาทำงานหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ แห่งนี้ ก็คงเริ่มมาจาก ๓ ประเด็น

 

ประเด็นที่หนึ่ง คือโดยลำพังแล้วผมเป็นคนสนใจเรื่องของเอกสาร หนังสือ รวมทั้งประวัติศาสตร์ในหลายมิติ  ผมเคยสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมจดหมายเหตุไทยมาแต่ไหนแต่ไร และก็ติดตามงาน เคยมาร่วมสัมมนากับสมาคมจดหมายเหตุไทยในฐานะส่วนตัวมาก่อน นั่นก็เป็นเรื่องความสนใจส่วนบุคคล

 

ประการที่สอง ผมไปบวชที่สวนโมกข์ และมีโอกาสได้เห็นเอกสารงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ทั้งที่ผลิตออกมา ทั้งที่เป็นงานเบื้องหลัง รวมทั้งคลังเอกสารจดหมายของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เก็บไว้ในกุฏิ  ผมเห็นและก็เคยกราบเรียนท่านอาจารย์พุทธทาสว่าของลักษณะนี้ต้องทำเป็นหอจดหมายเหตุ แล้วท่านก็บอกว่าก็เห็นเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่าไม่รู้ว่าใครจะทำ

 

ประเด็นที่สามที่ผมต้องมาทำก็คือ หลังจากที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมรณะเมื่อปี ๒๕๓๖ ทางสวนโมกข์และคณะธรรมทานเล็งเห็นว่างานเอกสาร หนังสือ และเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพัฒนา สร้างทำ แล้วเก็บไว้ที่สวนโมกข์ไชยามีคุณค่าจึงให้เก็บรวบรวมไว้ จนกระทั่งจวนจะครบ ๑๐๐ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส  ท่านอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสสวนโมกข์ กับคุณเมตตา พานิช ซึ่งเป็นประธานธรรมทานมูลนิธิ ได้บอกผมว่ามาช่วยทำเป็นหอจดหมายเหตุหน่อย

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงหนี้ไม่พ้น ก็รับธุระที่จะมาทำงานนี้นะครับ ก็เริ่มกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยประมาณ  จริง ๆ เราอยากจะทำที่สวนโมกข์ไชยา แต่ด้วยเหตุปัจจัย พระท่านบอกว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องของวัดและพระ น่าจะเป็นเรื่องของโยม และพื้นที่สวนโมกข์อยากเก็บไว้เป็นที่สำหรับศึกษา ปฏิบัติ และภาวนาเรื่องธรรมะ มากกว่าที่จะเก็บเอกสาร ก็เลยเลือกที่จะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยหลายฝ่ายบอกว่าลักษณะงานเช่นนี้อยู่กรุงเทพฯ จะมีประโยชน์กว่าอยู่ไกล เพราะว่าผู้ช่วย ผู้ใช้นี่ น่าจะเป็นพวกที่สนใจ และอยู่กรุงเทพฯ จะเข้าถึงได้ง่าย เราก็เลยมาทำหอจดหมายเหตุกันที่กรุงเทพฯ

 

มันเป็น…เรียกว่าเป็นบุญของพวกเรา  เพราะว่าท่านอาจารย์พุทธทาสทำไว้เยอะและเป็นงานพระพุทธศาสนา  เพียงแค่ดำริว่าจะเกิดหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็จะมีผู้คนจำนวนมาก ต้องใช้คำอย่างนี้ บอกว่า “เอาด้วย” บัญชาผมเอาด้วย อาจารย์หมอประเวศ วะสี คนแรกบอก บัญชาผมสมัคร อย่างนั้นอาจารย์เป็นประธานมูลนิธิ,  ท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัย บอกถ้าเรื่องนี้ทำด้วย ผมบอกถ้าอย่างนั้นอาจารย์เป็นประธานก่อตั้ง, เจอท่านอาจารย์เสนาะ อูนากูล ท่านเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าถ้าเรื่องท่านอาจารย์พุทธทาส ผมด้วยนะ ท่านก็เลยมาเป็นรองประธานมูลนิธิ เพราะฉะนั้นหอจดหมายเหตุเราก็ได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้คนมากมายหลากหลาย จนเราได้ที่ตั้งอยู่ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ซึ่งการได้ที่ตั้งอยู่ที่นี่ก็เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ท่านรู้ข่าว  ตอนนั้นท่านเป็นผู้ว่าฯ ท่านรู้ข่าวก็บอกว่าขอ กทม. ร่วมด้วยได้ไหม แต่ต้องกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ก็ทำเรื่องกราบทูลไป ท่านราชเลขาธิการฯ ก็ตอบมาว่าส่งขึ้นไปถึงพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตอย่างเร็วมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ก็เอาว่าเราก็เริ่มขึ้นมาแล้วก็ทำกันแบบมีความร่วมไม้ร่วมมือเยอะมาก เฉพาะด้านมิติจดหมายเหตุ เราได้ที่ปรึกษาจากท่านอดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย คือ อาจารย์หมอกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ท่านรับเป็นที่ปรึกษาให้ แล้วก็มีอาจารย์สวนีย์ วิเศษสินธุ์ ซึ่งเป็นอดีตนักจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร รับเป็นพี่เลี้ยง ยิ่งกว่าที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงเลยช่วยทำนำร่องให้เลย เราเริ่มทำกันที่มูลนิธิพระดาบสซึ่งเป็นที่ที่ท่านอาจารย์ทั้งสองไปช่วยทำจดหมายเหตุให้กับมูลนิธิพระดาบสอยู่ที่แถวเทเวศร์  เราก็เริ่มพัฒนาบนมาตรฐานการจดหมายเหตุที่อิงมาตรฐานของชาติ ขณะเดียวกันเราคิดว่างานนี้เป็นงานสากลเราจึงเข้าไปเชื่อมกับมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ISAD(G) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั้งโลกเขาใช้กัน ฉะนั้นเราใช้มาตรฐานสากลสำหรับการทำงานนี้ แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนา

 

งานจดหมายเหตุก็ไม่ง่ายในสังคมไทย เพราะว่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็แบกรับอยู่ไว้ฝ่ายเดียว ภาระงานใหญ่มาก เยอะมาก ประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะสร้างหอจดหมายเหตุ สร้างกลุ่มจดหมายเหตุ สร้างหน่วยจดหมายเหตุขึ้นในหลายส่วนหลายองค์กร ไม่ว่าจะองค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะบริษัทห้างร้าน หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ต่างก็ทำกันมา  เราก็เป็นหน่วยหนึ่งที่เกิดขึ้นมาทีหลัง แล้วเราก็รู้ว่ามีคนทำกันอยู่เยอะมาก เพียงแต่ว่าหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีความแตกต่างจากหอจดหมายเหตุอื่นอยู่  ผมคิดว่าหลายนัย

 

ในนัยที่หนึ่งงานจดหมายเหตุเป็นเรื่องลึก และคนน่าจะใช้น้อย งานอาจารย์พุทธทาสเป็นงานธรรมะซึ่งเราเชื่อว่ามีคุณค่ามาก เราจึงไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นที่เสาะแสวงหา เอามาเก็บรวบรวมรักษาไว้ให้คงทน แล้วก็เปิดให้คนมาค้น  พอดีเราเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วโลกดิจิทัลกำลังมาระยะหนึ่งแล้ว

 

เราจึงมีพันธกิจที่สอง คือ transfer ทุกอย่างเป็นดิจิทัล และสร้าง platform เพื่อให้คน access ได้ง่ายแบบ world wide เข้าได้ทุกที่  เพราะฉะนั้นเรื่องที่สองก็คือ แปลง format รูปแบบให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเผยแผ่ อันนั้นคือเรื่องที่สองที่เราทำและส่งเสริมให้คนมาใช้

 

เรื่องที่สามที่เราทำก็คือว่า ถ้าคนยังมาใช้ใน format ที่เป็นเอกสาร หนังสือ หรือเสียง หรือภาพยังน้อย  เราก็ต้องทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกันให้มากขึ้น เราก็สร้างทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อดึงให้คนมาร่วม เสร็จแล้วเห็นคุณค่า แล้วไปค้นต่อ แล้วเอาไปใช้ในชีวิต, ท้ายสุดก็คือ เพื่อให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาต่อ

 

ดังนั้น หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีจุดเน้นหนักทั้งสี่แนว โดยสิบปีที่ผ่านมาเราเน้นข้อที่สาม  ข้อที่หนึ่งและสองเราทำไปอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อที่สามทำมาก เพราะเรากลัวว่าที่ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต คือสวนรถไฟซึ่งอยู่ใจกลางเมือง มีสวนสาธารณะที่สวย แล้วก็มีผู้ให้ทุนมาร่วมกันสร้างเยอะมาก เรียกว่าไปขอใครเขาก็ให้รวมแล้วเป็นร้อยๆ ล้าน จนได้เป็นอาคารที่ดีมาก เราก็เลยทำให้เป็นศูนย์กิจกรรม เพื่อรับรู้ แล้วก็เลือกใช้ต่อไป

 

ตลอดที่เราทำงานมาเรามีบทเรียนบทหนึ่งที่รู้สึกว่า งานใหญ่ ๆ เราทำโดยลำพังไม่ได้ อย่างงานขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดของหอจดหมายเหตุฯ นี่ เราไม่ได้ทำเองเลยนะครับ ทำเองนิดเดียวเอง อีก ๗๐–๘๐ เปอร์เซ็นต์คนอื่นเขามาทำทั้งนั้น  เราจัดพื้นที่ให้ เชื้อเชิญให้มาทำ หรือแม้กระทั่งจัดงบให้ด้วยซ้ำไป กิจกรรมหอจดหมายเหตุฯ ทั้งหลายเป็นกิจกรรมที่เพื่อนทำหรือกัลยาณมิตรทำ เราจึงเห็นประเด็นว่า งานยาก ๆ งานใหญ่ ๆ ต้องมีมิตร มีภาคี มีเครือข่ายมาร่วมกัน เมื่อเราหันกลับมาดูเรื่องงานจดหมายเหตุซึ่งมีสมาคมจดหมายเหตุไทย มีหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเราเป็นน้องใหม่เล็ก ๆ แต่เราถนัดเรื่องเชื่อมโยงผู้คน

 

สมาคมจดหมายเหตุไทยมีงานประจำก็คือจัดประชุมประจำปี และจัดอบรมเป็นครั้งคราว  หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงคิดว่าถ้าเราร่วมไม้ร่วมมือกันมันน่าจะมีพลัง และที่สำคัญก็คือ จะมีคนมาร่วมไม้ร่วมมือในเรื่องงานจดหมายเหตุกับเรามากขึ้น และงานจดหมายเหตุของประเทศไทยก็จะเข้มแข็งและเบ่งบาน ไม่ใช่ว่าใครทำบ้างละ มีน้อยมาก แล้วอยู่ที่ไหน แล้วอยู่แต่ละที่ก็เล็ก ๆ การประชุมของสมาคมจดหมายเหตุไทยแต่ละครั้งผมไปบ่อยมาก  ก็พบว่ามีคนอยากตั้งหอจดหมายเหตุมาร่วมประชุมเยอะมาก แต่เขาก็ไม่สามารถจะเริ่มได้ ก็แสดงว่าต้องมีพี่เลี้ยง ต้องมีหลักสูตร ต้องมีแนวทาง เราจึงเอาประสบการณ์ของเราเองว่าเราเกิดขึ้นได้เพราะเรามีแนวทาง มีพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายน่าจะก่อประโยชน์ให้แก่กันและกัน  ทั้งที่ทำอยู่แล้วและคนที่อยากจะทำ และที่สำคัญคือการจดหมายเหตุของประเทศไทยจะได้เติบโตตั้งมั่น สถาปนา และก็ขยายผลได้ อันนั้นคือวัตถุประสงค์

 

เราคิดว่าถ้าเรารวมเป็นเครือข่ายและรู้ว่าใครต้องการอะไร เราก็จัดหลักสูตรเรียนรู้ไปด้วยกัน แล้วเริ่มรู้จักกัน ใครอยากทำเรื่องนี้ก็เชิญคนนี้ไปเป็นโค้ชให้ตัวเอง ไปช่วยกัน เมื่อมีปัญหาก็มาพบกัน มีวงหารือ มีเวทีพัฒนา อันนั้นเป็นสิ่งที่เราดำริและก็ได้ไปของบสนับสนุนมาจากหลายฝ่ายที่เขาก็เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีข้อแม้ว่า ไหวหรือหมอ  สุดท้ายเราก็ทำมาได้ ๒–๓ ปี ก็เกิดประโยชน์ไม่น้อย  แต่ลงเอยเราก็คิดว่าขอพักเรื่องเครือข่ายไว้ชั่วคราว โดยกลับมาเน้นพัฒนาของแต่ละหน่วย แต่ละ unit จดหมายเหตุให้แข็งแรงของกันและกันแล้วค่อยมาพบกันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ในปีสองปีนี้กิจกรรมของเครือข่ายก็เบาลง เหลือเป็นกิจกรรมที่สมาคมจดหมายเหตุไทยร่วมกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็เข้าไปร่วม  ส่วนการขับเคลื่อนของเครือข่ายก็เบาลง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเลิก อยู่ที่ว่าสมาชิกมิตรรักที่รักงานจดหมายเหตุและก็ร่วมกันมาคิดอย่างไรต่อ

 

 

สำหรับสมาคมจดหมายเหตุไทยในวาระครบ ๒๐ ปี  ผมคิดว่า ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมามีข้อคิดหนึ่งที่ถูกโยนเข้ามาสู่วงเสวนาว่าด้วยเครือข่ายงานจดหมายเหตุไทยเสมอมาว่า จริง ๆ แล้วงานจดหมายเหตุไทยควรจะเป็นอย่างไรกันแน่  อันนี้ผมก็อยากจะขอฝากไปยังสมาคมฯ เพื่อขบคิด เพราะว่าจริง ๆ แล้วโลกเปลี่ยนมาก จดหมายเหตุในโลกนี้เท่าที่ผมรับรู้และก็ติดตามและก็ได้ไปร่วมเรียนรู้ในบางกรณีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เรามีเครื่องมือที่เรียกว่าเป็นโปรแกรมเป็นเรื่องของระบบไอทีเข้ามา หรือที่เขาเรียกว่า records management หรือ records and information management ผมว่ามันก้าวไกลไปมาก tools ที่จะใช้ในเรื่องนี้มันเยอะหมดเลย  เพราะฉะนั้นผมคิดว่า งานจดหมายเหตุของไทยทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของระบบไอที และ information system จดหมายเหตุมันควรจะเป็นเรื่องอันควรจดจำ ไม่ว่าจะบวกจะลบ ของตั้งแต่บุคคล จนถึงของชุมชน ของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ จนถึงขององค์คณะ องค์กร บริษัท ห้างร้าน มูลนิธิ รวมทั้งอะไรก็ตามของสังคมนี้ ต้องมาคัดสรร เลือกเก็บ และรวบรวมอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงจดหมายเหตุระดับชาติเท่านั้นที่ต้องเก็บไว้ ตอนนี้ก็ต้องเป็นภาระกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่จะต้องเคลียร์จดหมายเหตุจากทั้งประเทศ แล้วเอามาให้คัดว่าอันไหนเป็นแห่งชาติต้องเก็บ อันไหนไม่เก็บ อันไหนทิ้งได้ อันไหนเป็นแค่จดหมายเหตุของท้องถิ่น แต่มันก็สายไปเสียแล้วเพราะท้องถิ่นส่งมาเสียแล้ว ขณะที่ทีมจดหมายเหตุแห่งชาติก็มีกำลังน้อยมาก รัฐไทยไม่ได้เห็นคุณค่าและให้งบประมาณมากมายสักเท่าไร

 

เพราะฉะนั้นเราต้องกลับชวนคิดใหม่ว่าด้วยเรื่องของ “ความทรงจำ” มากกว่าเรื่องของ “จดหมายเหตุ” ความจริงมันเรื่องเดียวกัน  แล้วมันมีหลายระดับและเราต้องช่วยกันเก็บไว้  ผมเข้าใจว่างานที่สำคัญที่สุดก็คือ “สารบรรณ” ซึ่งระบบประเทศไทยตั้งไว้เยอะมากและก็เต็มไปหมด แต่มันเป็นเพียงแค่บันทึกเพื่อเอาไว้บริหารงานเสร็จแล้วก็จบ ความจริงงานสารบรรณที่อยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีถ้าปรับให้ดีมันก็คือจดหมายเหตุที่ดีนี่เอง  ถ้าจัดระบบดีอย่างในประเทศไทยเรามีระบบ records and management ที่ดีและก็คลี่มาเป็นจดหมายเหตุเลยก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงการต่างประเทศ เท่าที่ผมทราบ  สององค์กรนี้มีความจำเป็นต้องทำเพราะเกี่ยวกับการเงินการคลังของชาติ และเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศผลประโยชน์ของชาติ และทุกวันนี้ทราบว่าทางฝ่ายตุลาการก็ให้ความสำคัญ มิหนำซ้ำฝ่ายรัฐสภาก็ให้ความสำคัญ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่งานนี้ก็จะค่อยๆ เติบโต แล้วก็ขยายวง และมั่นคงยิ่งขึ้น

 

ฝากชาวสมาคมจดหมายเหตุไทยและท่านทั้งหลายที่เห็นคุณค่าเรื่องนี้มาร่วมไม้ร่วมมือกัน  หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ซึ่งเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่เริ่มมาได้เพียง ๑๐ ปี ก็ขอปวารณาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมจดหมายเหตุไทยและวงการจดหมายเหตุของชาวไทย กระทั่งจดหมายเหตุของชาติไทยต่อไปครับ


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *