ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์  ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์  ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน สวัสดีค่ะ

 

ธงชัย :            สวัสดีครับ

 

วิยะดา :           พี่อ้วน เข้ามามีส่วนร่วมก่อตั้งสมาคมเมื่อไร ปีไหน

 

ธงชัย :            มีการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี ๒๕๔๓ ผมจำได้ว่าอยู่ชั้น ๕ ของตึกที่เป็นร้านหนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นก็มีการระดมความคิดเห็นในการตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น ริเริ่มโดยท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  และมีนักวิชาการอีกหลายส่วน ผมเป็นเอกชนจำนวนน้อย ที่เข้าไปร่วมประชุมด้วย  มติที่ประชุมในวันนั้นเห็นชอบว่าควรมีการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น เดิมเราคิดว่าจะต้องเป็นแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่เมื่อดูข้อกฎหมายและระเบียบของกรมการปกครองแล้วพบว่าออกมากลางๆ ดีกว่า จึงจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้นและก่อตั้งสำเร็จปี ๒๕๔๔ มีสถานที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

วิยะดา :           ใครเป็นคนชักนำให้พี่อ้วนเข้ามาร่วมกับสมาคมฯ

 

ธงชัย :            บังเอิญเหลือเกินก็ว่าได้ ว่าธุรกิจที่ผมทำอยู่คือสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เป็นธุรกิจที่พิมพ์หนังสือหายาก ต่ออายุหนังสือหายาก ซึ่งหนังสือหายาก มันกึ่งๆ เป็นเอกสารจดหมายเหตุ บางเล่มเจอเล่มเดียว อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์ และจดหมายเหตุกลายๆ ได้พบอาจารย์ชาญวิทย์ ในคราวที่ไปเที่ยวทัศนศึกษาที่เวียดนามด้วยกัน อาจารย์ชาญวิทย์ก็สนใจว่ามีภาคเอกชนที่มุ่งมั่นในเรื่องเหล่านี้ก็ชักชวนให้ผมมาร่วมในครั้งกระนั้นปี ๒๕๔๓ เป็นผู้ร่วมก็ตั้งไปด้วยในตัว เป็นภาคเอกชนที่ตกระไดพลอยโจนก็ว่าได้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพื้นความรู้ผมเป็นประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากเราต้องใช้เอกสารจดหมายเหตุ ภาพเก่า อะไรเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกอินเข้าไปเรื่อยๆ และเห็นความสำคัญของวิชาจดหมายเหตุว่าเป็นรากฐานของวิชาต่างๆ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องกลับมาดูที่จดหมายเหตุของตนเอง ของกรม ของมหาวิทยาลัย ของบริษัทห้างร้านก็มี วิชาเหล่านี้มันต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักรักษา  เก็บให้ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานต่อไป

 

วิยะดา :           แนวคิดในการจัดก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยมาจากไหน

 

ธงชัย :            ช่วง ๒๕๔๔ วิชาจดหมายเหตุเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ มีคนรู้หรือคนที่ลงรายละเอียดที่รู้จริงมีน้อย ฉะนั้นด้วยวิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ ว่าถ้าเรามัวอยู่อย่างกระจัดกระจาย คนโน้นทำอย่าง คนนี้ทำอย่าง ไม่ประสานสอดคล้องกัน จะรู้สึกเปล่าเปลี่ยว รู้สึกมีเหลือเราคนเดียวเท่านั้นหรือในสังคมนี้ เลยเอามารวมตัวกัน จะได้คุยกันเป็นที่พบปะสังสรรค์กัน เป็นประโยชน์

 

วิยะดา :           พี่มองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างในช่วงแรก

 

ธงชัย :            เป็นเรื่องปรกติ การริเริ่มอะไรใหม่ๆ ต้องฝันฝ่า ต้องสู้ไม่ถอย อึดเท่านั้น ต้องยกยกย่องท่านอาจารย์ชาญวิทย์ว่าท่านพยายามประคับประครอง และส่งเสริมวิชาจดหมายเหตุให้แพร่หลายสู่องค์กร ทบวง กระทรวง กรม เอกชนต่างๆ ต้องสู้ เผยแพร่วิชาความรู้ให้สาธารณชนทราบมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเมื่อ ๑๐ ปีแรกเราก็ไม่เข็มแข็งอะไร ทุนรอนไม่เยอะ ผมส่วนหนึ่งมีกำลังที่จะไปติดต่อขอทุนมาพัฒนาสมาคมฯ ให้มีกิจกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ  ผมมีส่วนในการขอทุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมา ๓๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินทุนที่จะขับเคลื่อนสมาคมฯ ให้เดินหน้าต่อไป ต่อมายังมีอีกหลายท่านที่ให้ทุน ให้ทุนส่วนตัวด้วยหรือขอทุนจากราชการด้วย ท่านอาจารย์ชาญวิทย์พยายามสร้างกิจกรรมของสมาคมจดหมายเหตุให้มีกิจกรรมการเสวนาประจำปีทุกปี ทั้งนี้แล้วแต่งบประมาณ บางปีงบประมาณเยอะก็ทำเอง บางปีเงินร่อยหลอก็ไปแฝงอยู่กับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ เป็นเหมือนโครงการนำร่อง คือส่งเสริมการพัฒนางานจดหมายเหตุ เปิดคอร์สหลักสูตร ๒ วันและเก็บเงินเพื่อที่จะบำรุงสมาคมก็ได้รับความสนใจจากสมาชิกและบุคคลภายนอกด้วย เข้ามาอบรมได้รับความรู้ สถานที่ครั้งแรกใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ ๒ มาใช้ที่ห้องประชุม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

วิยะดา :           ช่วงแรกนอกจากหาทุน พี่อ้วนช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้างคะ

 

ธงชัย :            แสวงหานักวิชาการที่จะมาบรรยายและตัวผมเองก็เป็นผู้บรรยายด้วย อย่างที่เรียนให้ทราบพื้นฐานผมเป็นนักประวัติศาสตร์พยายามศึกษาและลงรายละเอียดในวิชาจดหมายเหตุก็ทำได้เท่าที่ทำ

 

วิยะดา :           ช่วงแรกพี่อ้วนดำรงตำแหน่งอะไรในสมาคมบ้างคะ

 

ธงชัย :            ผมก็ช่วยทุกอย่างแต่หลักสำคัญคือช่วยหาทุน ส่วนอื่นแล้วแต่ท่านอาจารย์ชาญวิทย์จะเรียกใช้ก็ว่าไป ในเอกสารก่อตั้งสมาคมฯ ผมอยู่ในตำแหน่ง ๒ ตำแหน่ง คือประชาสัมพันธ์กับเหรัญญิก

 

วิยะดา :           ผลงานเด่นในรอบ ๒๐ ปี ในสมัยที่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นนายก และพี่เป็นนายก

 

ธงชัย :            อย่างที่เรียนให้ทราบว่า มีการประชุมวิชาการทุกปีไม่มีขาด แล้วแต่ว่าทุนทรัพย์มากน้อยแค่ไหน ถ้าทุนทรัพย์มากก็เป็นเรื่องเป็นราวเชิญนักวิชาการมาบรรยาย  ในขณะนั้น ๑๐ กว่าปีที่แล้วคนจบจดหมายเหตุไม่มี ต้องไหว้วานอาศัยคนที่เชี่ยวชาญปฏิบัติจริงคือข้าราชการจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยเฉพาะคุณนก ขนิษฐา วงศ์พานิช มีส่วนช่วยเหลือเยอะทีเดียว รวมทั้งบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ เช่น อาจารย์เอนก นาวิกมูล, อาจารย์ภูธร ภูมะธน แต่สิ่งที่น่าจะเป็นผลงานที่โดยเด่นของอาจารย์ชาญวิทย์หรือยุคอาจารย์ชาญวิทย์เป็นนายกคือการผลักดันให้มีการเรียนการสอนวิชาจดหมายเหตุระดับปริญญาโท ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างต่อเนื่อง

 

 

วิยะดา :           พี่อ้วนมองงานจดหมายเหตุในประเทศไทยอย่างไรบ้างคะ

 

ธงชัย :            ต้องเรียนว่าวิชาจดหมายเหตุเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย คนที่จบโดยตรงโดยเฉพาะที่จะมาสอนวิชานี้ก็มีจำนวนไม่มากแต่ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับปีที่ผ่านมามีระดับปริญญาเอกจบออกมา ๕ ท่าน เพราะฉะนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าวิชาจดหมายเหตุจะเจริญก้าวหน้า พอเอ่ยคำว่าจดหมายเหตุในองค์กร ในส่วนราชการ ในระดับบริษัทห้างร้าน เขาจะทำหน้างง อย่างที่บอกมันเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ ทุกองค์กร ทุกส่วนราชการเห็นความสำคัญ กระตือรือร้นที่จะพัฒนางานจดหมายเหตุในกรมของตัวเอง อย่างล่าสุดที่ผมได้ให้คำปรึกษาคือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็กระตือรือร้นมากที่จะจัดทำเอกสารจดหมายเหตุส่วนตัวของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเขามีต้นทุนอยู่แล้วคือ มีเอกสารของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อดีตอธิบดีท่านแรกๆ ที่เริ่มงานวิทยาศาสตร์บริการ ผมคิดว่าในอนาคตไม่ไกลจะมีความตื่นรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะให้ส่วนราชการ กรมหรือสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเล่น เข้ามามาพัฒนาองค์ความรู้วิชาจดหมายเหตุ รวมทั้งห้างร้าน องค์กรเอกชนที่จะเก็บเอกสารจดหมายเหตุของตัวเอง

 

วิยะดา :           ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยดำเนินงานมาครบรอบ ๒ ทศวรรษ มีข้อคิดอะไรจะฝากไว้ไหมคะ

 

ธงชัย :            ต้องเรียนว่าวิชาจดหมายเหตุในประเทศไทยเป็นวิชาที่เริ่มต้นยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกเยอะ และอย่าคิดว่าการที่จะลุกขึ้นมาทำเอกสารจดหมายเหตุเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐมนตรี เป็นเรื่องของอธิบดี  จริงๆ แล้วการทำจดหมายเหตุเป็นเรื่องของทุกคน ไล่มาตั้งแต่กระทรวง กรมต่างๆ ฝ่ายต่างๆ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงไปถึงครอบครัว ครอบครัวใครครอบครัวเขา ก็มีจดหมายเหตุเป็นของตัวเอง ลายมือพ่อแม่ รูปถ่ายเก่าของบรรพบุรุษ เอกสารสั่งราชการของอธิบดี วันที่กรมเริ่มก่อตั้งมีกิจการอะไร อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของชาติเลย และผมคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำจดหมายเหตุขององค์กร ของครอบครัว ของจังหวัด เราไม่ต้องการใช้พื้นที่เป็นตึกทั้งตึก สำหรับองค์กรใหญ่ๆ เพียงแค่ห้องเล็กๆ ๕ เมตร คูณ ๕ เมตร ผมว่าเพียงพอที่จะเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่ายเก่า หรือว่าถ้าเป็นครอบครัว ตู้ใบเดียวก็สามารถเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุและอัลบั้มรูปเก่าของครอบครัว ไม่เยอะไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ผมหวังว่ารากฐานของความเป็นวิชาจดหมายเหตุจะพัฒนาและส่งมอบความรู้ มรดกและภูมิปัญญา ซึ่งเกิดจากวิชาจดหมายเหตุให้แก่ลูกหลาน ให้แก่ประเทศชาติ เพื่อที่องค์ความรู้เราจะได้ไม่ขาดหายไป

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ต้องขอบพระคุณพี่อ้วน นายกสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นอย่างสูงที่ได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่า โอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยครบรอบ ๒๐ ปี

 

ธงชัย :            ครับ สวัสดีครับ


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *