Tag Archives: 20ปีสมาคมจดหมายเหตุไทย

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางจุฑาทิพย์ อังศุสิงห์

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             นางจุฑาทิพย์ อังศุสิงห์
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และที่ปรึกษาสมาคมจดหมายเหตุไทย พ.ศ. ๒๕๖๑ – พ.ศ. ๒๕๖๓

ผู้สัมภาษณ์ :                    นางสาวภาพิศุทธิ์ สายจำปา

วันที่สัมภาษณ์ :              วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

ภาพิศุทธิ์ :        สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาสัมภาษณ์คุณจุฑาทิพย์ อังศุสิงห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขออนุญาตเรียกพี่หมูนะคะ สวัสดีค่ะพี่หมู

 

จุฑาทิพย์ :        สวัสดีค่ะ

 

ภาพิศุทธิ์ :        ไม่ทราบว่าพี่หมูดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อปีไหนคะ 

 

จุฑาทิพย์ :        ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๑ จนถึง พ.ศ. ๒๕๖๓

 

ภาพิศุทธิ์ :        พี่หมูมีตำแหน่งในสมาคมฯ ด้วย ไม่ทราบว่าตำแหน่งอะไรคะ

 

จุฑาทิพย์ :        กรรมการโดยตำแหน่ง

 

ภาพิศุทธิ์ :        ในช่วงแรกๆ  พี่หมูมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรคะ

 

จุฑาทิพย์ :        ส่วนตัวนี่นะคะ สมาคมจดหมายเหตุไทย พี่ประทับใจ เพราะว่าเราต้องยอมรับว่า วิชาชีพจดหมายเหตุเป็นวิชาชีพที่คนทั่วไปรู้จักค่อนข้างน้อย ถ้าเปรียบเทียบกับนักบัญชี สถาปนิก อะไรทั้งหลายแหล่ ฉะนั้นพอพูดถึงวิชาชีพจดหมายเหตุ คนโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยรู้จักเรา เราเองก็มีเครือข่ายมีพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นนักจดหมายเหตุด้วยกันน้อยก็ค่อนข้างน้อย ดังนั้นพอมีสมาคมจดหมายเหตุไทยเกิดขึ้น พี่ประทับใจและดีใจว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีใจรักงานจดหมายเหตุเหมือนกัน และเสียสละมาตั้งสมาคมเพื่อทำงานจดหมายเหตุให้ชาติบ้านเมือง ก็ดีใจค่ะ

 

ภาพิศุทธิ์ :        ในช่วงที่พี่หมูเป็นผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติกับสมาคมฯ ได้ร่วมมือกันทำโครงการอะไรกันบ้างคะ

 

จุฑาทิพย์ :        ตอนที่พี่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ พี่กับทางสมาคมฯ เราค่อนข้างคุ้นเคยกัน แม้แต่คุณตุ้ย (ภาพิศุทธิ์) เราก็คุ้นเคยกัน ตัวท่านนายกเอง ท่านธงชัยเราก็สนิทสนมมาเกินกว่า ๒๐ ปี เพราะฉะนั้นเรารู้จักคุ้นเคยและร่วมมือกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ทีนี้พอพี่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มีส่วนช่วยให้สมาคมกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  กว้างขวางขึ้น เป็นทางการมากขึ้น  เท่าที่จำได้งานใหญ่ๆ ที่ทำงานร่วมมือกันคือเรื่องของนิทรรศการ นิทรรศการที่เพิ่งผ่านไปคือ วันจดหมายเหตุสากล ทางสมาคมฯ ก็ช่วยหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเสวนา ที่ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้และน่าสนใจหลายๆ ท่านมาเสวนาผ่านนิทรรศการเสมือนจริง อีกงานหนึ่งก็เป็นนิทรรศการฟิล์มกระจก นอกจากงานนิทรรศการแล้ว ทางสมาคมฯ จัดเสวนาหรือมีกิจกรรมอะไรทางหอจดหมายเหตุจะให้ความร่วมมือ ตัวพี่ถ้ามีโอกาส พี่จะไปเข้าร่วมฟัง ไปร่วมกิจกรรมอยู่เสมอค่ะ

 

ภาพิศุทธิ์ :        พี่มองสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นอย่างไรบ้าง

 

จุฑาทิพย์ :        สมาคมฯ นี้นะคะ จริงที่บอกว่าดีใจที่สมาคมฯ จัดตั้ง อีกใจหนึ่งลึกๆ เลย ตั้งแต่สมาคมฯ เริ่มก่อตั้งที่ได้ทราบว่าจะมีสมาคมฯ ใจลึกๆ คือเป็นห่วง เป็นห่วงอย่างที่บอกว่าวิชาชีพของเราไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำสมาคมฯ ใจก็เป็นห่วงว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคไรมากมายแค่ไหน แล้วคนที่มาช่วยสมาคมฯ ก็จะต้องมีใจ ต้องทุ่มเทเสียสละกันมากมายแค่ไหน จะผ่านพ้นไปด้วยดีไหม ก็เป็นห่วง แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ไม่น่าห่วงละ ก็จะครบ ๒๐ ปี ในปีหน้า เพราะฉะนั้นสมาคมฯ มาถึงขนาดนี้ก็แปลว่า กรรมการและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นายกท่านแรกมาจนปัจจุบัน ทุกคนทุ่มเท มีใจมีผลงานในเรื่องจดหมายเหตุ ความห่วงใยคงไม่มีละ คงมีแต่ความชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ รวมถึงกำลังกายด้วย ถ้ามีอะไรอยากให้ช่วยเหลือก็ยินดี

 

ภาพิศุทธิ์ :        มีสิ่งที่พี่หมูคาดหวังอะไรจากสมาคมจดหมายเหตุไทยบ้างคะ

 

จุฑาทิพย์ :        อยากให้สมาคมฯ เป็นปึกแผ่นมั่นคงแบบนี้หรือยิ่งๆ กว่านี้ มีสมาชิกมากขึ้น เพราะว่าผลจากกิจกรรมจากความทุ่มเทของสมาคมฯ มีส่วนทำให้คนนักเรียน นิสิตนักศึกษาหรือประชาชนทั่วไป รู้จักงานจดหมายเหตุมากขึ้น   ทั้งจากตัวท่านนายกธงชัย ทั้งจากกรรมการทุกท่าน กิจกรรมที่สมาคมฯ จัดและเผยแพร่ออกไป ทำให้งานจดหมายเหตุเป็นที่รู้จัก ถ้ามองจากมุมมองของพี่  ในฐานะที่เป็นนักจดหมายเหตุมาเนิ่นนานและเป็นผู้อำนวยการ คิดว่าถ้าเปรียบเทียบจากเดิมกับปัจจุบัน คนรู้จักมากขึ้น ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นผลจากการทุ่มเทของสมาคมฯ นะค่ะ

 

ภาพิศุทธิ์ :    ในมุมมองของพี่หมูอยากเรียนถามพี่หมูว่านักจดหมายเหตุรุ่นเก่ากับนักจดหมายเหตุรุ่นปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างไร

 

จุฑาทิพย์ :        นักจดหมายเหตุในแง่ของวิชาการ ถ้าเป็นวิชาการจดหมายเหตุสมัยก่อน สมัยนี้ไม่มีความแตกต่างกัน หลักการของงานจดหมายเหตุยังเป็นหลักการของงานจดหมายเหตุอยู่อย่างนั้น แต่ว่าสมัยก่อนกับสมัยนี้ถ้าต่างกัน เป็นเรื่องของสื่อ เรื่องของบริบททางสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า  ๒๐-๓๐ ปี ๖๐ ปี ที่ผ่านมาบริบททางสังคมมันเปลี่ยนไป สื่อโซเชียล  ลักษณะของเอกสารมีความเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถ้ามองอดีตกับปัจจุบันหลักการคงเดิมแต่สิ่งที่เปลี่ยนไป การประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเชิงรุกหรือแม้แต่การเข้าถึงเอกสารเปลี่ยนไป ตรงนี้ต้องปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น ต้องเข้าถึงให้มากขึ้น ต้องพร้อมในเรื่องของการบริการมากขึ้นกว่าเดิม

 

ภาพิศุทธิ์ :        อยากให้พี่หมูฝากคำแนะนำไปยังนักจดหมายเหตุปัจจุบันว่าควรทำอย่างไรบ้าง

 

จุฑาทิพย์ :        ถ้าจะฝาก  คิดว่าถ้าเราก้าวมาเป็นนักจดหมายเหตุแล้ว อย่างน้อยใจเราคือนักจดหมายเหตุละ พอพูดคำว่านักจดหมายเหตุ พอเราสบตากัน เราเข้าใจแล้วว่าชีวิตเราต้องเป็นอย่างไร  อยากให้เขา ทั้งตุ้ยและทุกคนมีใจรักในงานจดหมายเหตุเหมือนที่พี่ๆ รุ่นโบราณเขาสร้างมา อะไรที่โบราณสร้างมา เราก็อนุรักษ์ไว้ ในขณะเดียวกันเราก็สืบสานต่อยอด ก็คือว่าปริบทของสังคมเปลี่ยนไป ลักษณะเอกสารเปลี่ยนไป การดำเนินงานโครงการกิจกรรมอาจจะต้องเน้นในเรื่องที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ขอให้มีใจ ทำเพื่อองค์กร ทำเพื่อชาติบ้านเมืองเพราะเราก็รู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของหลักฐานแล้วคือเอกสารจดหมายเหตุนั่นเอง

 

ภาพิศุทธิ์ :  ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยครบ ๒๐ ปี พี่หมูอยากจะฝากอะไรถึงสมาคมฯ ไหมคะ

 

จุฑาทิพย์ :        อย่างแรกเลยขอแสดงความยินดีที่สมาคมฯอยู่ยั้งยืนยงมาจน ๒๐ ปี มันเกิดจากความทุ่มเททั้งด้วยแรงใจ แรงกายของตัวท่านนายกสมาคมฯและกรรมการทุกท่านของสมาคมฯ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมฯทุกท่าน นอกจากความชื่นชมแล้วดิฉันอยากจะส่งแรงกายและแรงใจ ในโอกาสที่จะสามารถช่วยสมาคมฯได้ อยากให้สมาคมฯยืนหยัดอยู่อย่างนี้เคียงคู่กับหอจดหมายเหตุแห่งชาติตลอดไปเพื่อเราจะได้ร่วมมือประสานงาน ประสานใจ อนุรักษ์เอกสารสำคัญซึ่งเป็นเอกสารจดหมายเหตุสำคัญของชาติ และร่วมมือกันสร้างความความเข้าใจ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในชาติให้เห็นความสำคัญของงานจดหมายเหตุ เอกสารจดหมายเหตุอยู่ต่อไปค่ะ

 

ภาพิศุทธิ์ :        ทางสมาคมจดหมายเหตุไทย ต้องขอบคุณพี่หมูเป็นอย่างยิ่งนะคะ ได้ความรู้มากมายเลยคะ ที่ได้ให้เวลาและความรู้ต่างๆ แก่จดหมายเหตุไทย ขอบพระคุณ ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ

 

จุฑาทิพย์ :        ยินดีค่ะ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             : นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
                                             ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ                                          

วันที่สัมภาษณ์ :             วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


สวัสดีครับ ผมบัญชา พงษ์พานิช ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ขอร่วมเฉลิมฉลองในวาระที่สมาคมจดหมายเหตุไทยมีโอกาสครบ ๒๐ ปี ในปี ๒๕๖๔ นี้ครับ

 

สำหรับการที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้มามีส่วนร่วมกิจกรรมกับสมาคมจดหมายเหตุไทย  ก็เป็นเรื่องปกติเมื่อเราเริ่มขึ้นเราก็อยากหามิตร  แล้วมิตรที่สำคัญของประเทศไทยในแวดวงจดหมายเหตุมีเพียงสองที่ คือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสมาคมจดหมายเหตุไทย หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงเป็นสมาชิกสมาคมฯ ตั้งแต่ต้นแล้ว

 

มีคำถามมายังผมว่าทำไมถึงได้มาทำงานหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ แห่งนี้ ก็คงเริ่มมาจาก ๓ ประเด็น

 

ประเด็นที่หนึ่ง คือโดยลำพังแล้วผมเป็นคนสนใจเรื่องของเอกสาร หนังสือ รวมทั้งประวัติศาสตร์ในหลายมิติ  ผมเคยสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมจดหมายเหตุไทยมาแต่ไหนแต่ไร และก็ติดตามงาน เคยมาร่วมสัมมนากับสมาคมจดหมายเหตุไทยในฐานะส่วนตัวมาก่อน นั่นก็เป็นเรื่องความสนใจส่วนบุคคล

 

ประการที่สอง ผมไปบวชที่สวนโมกข์ และมีโอกาสได้เห็นเอกสารงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ทั้งที่ผลิตออกมา ทั้งที่เป็นงานเบื้องหลัง รวมทั้งคลังเอกสารจดหมายของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เก็บไว้ในกุฏิ  ผมเห็นและก็เคยกราบเรียนท่านอาจารย์พุทธทาสว่าของลักษณะนี้ต้องทำเป็นหอจดหมายเหตุ แล้วท่านก็บอกว่าก็เห็นเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่าไม่รู้ว่าใครจะทำ

 

ประเด็นที่สามที่ผมต้องมาทำก็คือ หลังจากที่ท่านอาจารย์พุทธทาสมรณะเมื่อปี ๒๕๓๖ ทางสวนโมกข์และคณะธรรมทานเล็งเห็นว่างานเอกสาร หนังสือ และเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพัฒนา สร้างทำ แล้วเก็บไว้ที่สวนโมกข์ไชยามีคุณค่าจึงให้เก็บรวบรวมไว้ จนกระทั่งจวนจะครบ ๑๐๐ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส  ท่านอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสสวนโมกข์ กับคุณเมตตา พานิช ซึ่งเป็นประธานธรรมทานมูลนิธิ ได้บอกผมว่ามาช่วยทำเป็นหอจดหมายเหตุหน่อย

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงหนี้ไม่พ้น ก็รับธุระที่จะมาทำงานนี้นะครับ ก็เริ่มกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยประมาณ  จริง ๆ เราอยากจะทำที่สวนโมกข์ไชยา แต่ด้วยเหตุปัจจัย พระท่านบอกว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องของวัดและพระ น่าจะเป็นเรื่องของโยม และพื้นที่สวนโมกข์อยากเก็บไว้เป็นที่สำหรับศึกษา ปฏิบัติ และภาวนาเรื่องธรรมะ มากกว่าที่จะเก็บเอกสาร ก็เลยเลือกที่จะมาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยหลายฝ่ายบอกว่าลักษณะงานเช่นนี้อยู่กรุงเทพฯ จะมีประโยชน์กว่าอยู่ไกล เพราะว่าผู้ช่วย ผู้ใช้นี่ น่าจะเป็นพวกที่สนใจ และอยู่กรุงเทพฯ จะเข้าถึงได้ง่าย เราก็เลยมาทำหอจดหมายเหตุกันที่กรุงเทพฯ

 

มันเป็น…เรียกว่าเป็นบุญของพวกเรา  เพราะว่าท่านอาจารย์พุทธทาสทำไว้เยอะและเป็นงานพระพุทธศาสนา  เพียงแค่ดำริว่าจะเกิดหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็จะมีผู้คนจำนวนมาก ต้องใช้คำอย่างนี้ บอกว่า “เอาด้วย” บัญชาผมเอาด้วย อาจารย์หมอประเวศ วะสี คนแรกบอก บัญชาผมสมัคร อย่างนั้นอาจารย์เป็นประธานมูลนิธิ,  ท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัย บอกถ้าเรื่องนี้ทำด้วย ผมบอกถ้าอย่างนั้นอาจารย์เป็นประธานก่อตั้ง, เจอท่านอาจารย์เสนาะ อูนากูล ท่านเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็บอกว่าถ้าเรื่องท่านอาจารย์พุทธทาส ผมด้วยนะ ท่านก็เลยมาเป็นรองประธานมูลนิธิ เพราะฉะนั้นหอจดหมายเหตุเราก็ได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้คนมากมายหลากหลาย จนเราได้ที่ตั้งอยู่ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ซึ่งการได้ที่ตั้งอยู่ที่นี่ก็เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ท่านรู้ข่าว  ตอนนั้นท่านเป็นผู้ว่าฯ ท่านรู้ข่าวก็บอกว่าขอ กทม. ร่วมด้วยได้ไหม แต่ต้องกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ก็ทำเรื่องกราบทูลไป ท่านราชเลขาธิการฯ ก็ตอบมาว่าส่งขึ้นไปถึงพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตอย่างเร็วมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ก็เอาว่าเราก็เริ่มขึ้นมาแล้วก็ทำกันแบบมีความร่วมไม้ร่วมมือเยอะมาก เฉพาะด้านมิติจดหมายเหตุ เราได้ที่ปรึกษาจากท่านอดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย คือ อาจารย์หมอกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ท่านรับเป็นที่ปรึกษาให้ แล้วก็มีอาจารย์สวนีย์ วิเศษสินธุ์ ซึ่งเป็นอดีตนักจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร รับเป็นพี่เลี้ยง ยิ่งกว่าที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงเลยช่วยทำนำร่องให้เลย เราเริ่มทำกันที่มูลนิธิพระดาบสซึ่งเป็นที่ที่ท่านอาจารย์ทั้งสองไปช่วยทำจดหมายเหตุให้กับมูลนิธิพระดาบสอยู่ที่แถวเทเวศร์  เราก็เริ่มพัฒนาบนมาตรฐานการจดหมายเหตุที่อิงมาตรฐานของชาติ ขณะเดียวกันเราคิดว่างานนี้เป็นงานสากลเราจึงเข้าไปเชื่อมกับมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ISAD(G) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั้งโลกเขาใช้กัน ฉะนั้นเราใช้มาตรฐานสากลสำหรับการทำงานนี้ แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนา

 

งานจดหมายเหตุก็ไม่ง่ายในสังคมไทย เพราะว่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็แบกรับอยู่ไว้ฝ่ายเดียว ภาระงานใหญ่มาก เยอะมาก ประเทศไทยก็มีความพยายามที่จะสร้างหอจดหมายเหตุ สร้างกลุ่มจดหมายเหตุ สร้างหน่วยจดหมายเหตุขึ้นในหลายส่วนหลายองค์กร ไม่ว่าจะองค์กรของรัฐ ไม่ว่าจะองค์กรเอกชน ไม่ว่าจะบริษัทห้างร้าน หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ต่างก็ทำกันมา  เราก็เป็นหน่วยหนึ่งที่เกิดขึ้นมาทีหลัง แล้วเราก็รู้ว่ามีคนทำกันอยู่เยอะมาก เพียงแต่ว่าหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีความแตกต่างจากหอจดหมายเหตุอื่นอยู่  ผมคิดว่าหลายนัย

 

ในนัยที่หนึ่งงานจดหมายเหตุเป็นเรื่องลึก และคนน่าจะใช้น้อย งานอาจารย์พุทธทาสเป็นงานธรรมะซึ่งเราเชื่อว่ามีคุณค่ามาก เราจึงไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นที่เสาะแสวงหา เอามาเก็บรวบรวมรักษาไว้ให้คงทน แล้วก็เปิดให้คนมาค้น  พอดีเราเกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วโลกดิจิทัลกำลังมาระยะหนึ่งแล้ว

 

เราจึงมีพันธกิจที่สอง คือ transfer ทุกอย่างเป็นดิจิทัล และสร้าง platform เพื่อให้คน access ได้ง่ายแบบ world wide เข้าได้ทุกที่  เพราะฉะนั้นเรื่องที่สองก็คือ แปลง format รูปแบบให้ง่ายต่อการเข้าถึงและเผยแผ่ อันนั้นคือเรื่องที่สองที่เราทำและส่งเสริมให้คนมาใช้

 

เรื่องที่สามที่เราทำก็คือว่า ถ้าคนยังมาใช้ใน format ที่เป็นเอกสาร หนังสือ หรือเสียง หรือภาพยังน้อย  เราก็ต้องทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกันให้มากขึ้น เราก็สร้างทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย เพื่อดึงให้คนมาร่วม เสร็จแล้วเห็นคุณค่า แล้วไปค้นต่อ แล้วเอาไปใช้ในชีวิต, ท้ายสุดก็คือ เพื่อให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาต่อ

 

ดังนั้น หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีจุดเน้นหนักทั้งสี่แนว โดยสิบปีที่ผ่านมาเราเน้นข้อที่สาม  ข้อที่หนึ่งและสองเราทำไปอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อที่สามทำมาก เพราะเรากลัวว่าที่ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต คือสวนรถไฟซึ่งอยู่ใจกลางเมือง มีสวนสาธารณะที่สวย แล้วก็มีผู้ให้ทุนมาร่วมกันสร้างเยอะมาก เรียกว่าไปขอใครเขาก็ให้รวมแล้วเป็นร้อยๆ ล้าน จนได้เป็นอาคารที่ดีมาก เราก็เลยทำให้เป็นศูนย์กิจกรรม เพื่อรับรู้ แล้วก็เลือกใช้ต่อไป

 

ตลอดที่เราทำงานมาเรามีบทเรียนบทหนึ่งที่รู้สึกว่า งานใหญ่ ๆ เราทำโดยลำพังไม่ได้ อย่างงานขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดของหอจดหมายเหตุฯ นี่ เราไม่ได้ทำเองเลยนะครับ ทำเองนิดเดียวเอง อีก ๗๐–๘๐ เปอร์เซ็นต์คนอื่นเขามาทำทั้งนั้น  เราจัดพื้นที่ให้ เชื้อเชิญให้มาทำ หรือแม้กระทั่งจัดงบให้ด้วยซ้ำไป กิจกรรมหอจดหมายเหตุฯ ทั้งหลายเป็นกิจกรรมที่เพื่อนทำหรือกัลยาณมิตรทำ เราจึงเห็นประเด็นว่า งานยาก ๆ งานใหญ่ ๆ ต้องมีมิตร มีภาคี มีเครือข่ายมาร่วมกัน เมื่อเราหันกลับมาดูเรื่องงานจดหมายเหตุซึ่งมีสมาคมจดหมายเหตุไทย มีหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเราเป็นน้องใหม่เล็ก ๆ แต่เราถนัดเรื่องเชื่อมโยงผู้คน

 

สมาคมจดหมายเหตุไทยมีงานประจำก็คือจัดประชุมประจำปี และจัดอบรมเป็นครั้งคราว  หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงคิดว่าถ้าเราร่วมไม้ร่วมมือกันมันน่าจะมีพลัง และที่สำคัญก็คือ จะมีคนมาร่วมไม้ร่วมมือในเรื่องงานจดหมายเหตุกับเรามากขึ้น และงานจดหมายเหตุของประเทศไทยก็จะเข้มแข็งและเบ่งบาน ไม่ใช่ว่าใครทำบ้างละ มีน้อยมาก แล้วอยู่ที่ไหน แล้วอยู่แต่ละที่ก็เล็ก ๆ การประชุมของสมาคมจดหมายเหตุไทยแต่ละครั้งผมไปบ่อยมาก  ก็พบว่ามีคนอยากตั้งหอจดหมายเหตุมาร่วมประชุมเยอะมาก แต่เขาก็ไม่สามารถจะเริ่มได้ ก็แสดงว่าต้องมีพี่เลี้ยง ต้องมีหลักสูตร ต้องมีแนวทาง เราจึงเอาประสบการณ์ของเราเองว่าเราเกิดขึ้นได้เพราะเรามีแนวทาง มีพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้นการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายน่าจะก่อประโยชน์ให้แก่กันและกัน  ทั้งที่ทำอยู่แล้วและคนที่อยากจะทำ และที่สำคัญคือการจดหมายเหตุของประเทศไทยจะได้เติบโตตั้งมั่น สถาปนา และก็ขยายผลได้ อันนั้นคือวัตถุประสงค์

 

เราคิดว่าถ้าเรารวมเป็นเครือข่ายและรู้ว่าใครต้องการอะไร เราก็จัดหลักสูตรเรียนรู้ไปด้วยกัน แล้วเริ่มรู้จักกัน ใครอยากทำเรื่องนี้ก็เชิญคนนี้ไปเป็นโค้ชให้ตัวเอง ไปช่วยกัน เมื่อมีปัญหาก็มาพบกัน มีวงหารือ มีเวทีพัฒนา อันนั้นเป็นสิ่งที่เราดำริและก็ได้ไปของบสนับสนุนมาจากหลายฝ่ายที่เขาก็เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่มักจะมีข้อแม้ว่า ไหวหรือหมอ  สุดท้ายเราก็ทำมาได้ ๒–๓ ปี ก็เกิดประโยชน์ไม่น้อย  แต่ลงเอยเราก็คิดว่าขอพักเรื่องเครือข่ายไว้ชั่วคราว โดยกลับมาเน้นพัฒนาของแต่ละหน่วย แต่ละ unit จดหมายเหตุให้แข็งแรงของกันและกันแล้วค่อยมาพบกันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ในปีสองปีนี้กิจกรรมของเครือข่ายก็เบาลง เหลือเป็นกิจกรรมที่สมาคมจดหมายเหตุไทยร่วมกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ก็เข้าไปร่วม  ส่วนการขับเคลื่อนของเครือข่ายก็เบาลง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเลิก อยู่ที่ว่าสมาชิกมิตรรักที่รักงานจดหมายเหตุและก็ร่วมกันมาคิดอย่างไรต่อ

 

 

สำหรับสมาคมจดหมายเหตุไทยในวาระครบ ๒๐ ปี  ผมคิดว่า ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมามีข้อคิดหนึ่งที่ถูกโยนเข้ามาสู่วงเสวนาว่าด้วยเครือข่ายงานจดหมายเหตุไทยเสมอมาว่า จริง ๆ แล้วงานจดหมายเหตุไทยควรจะเป็นอย่างไรกันแน่  อันนี้ผมก็อยากจะขอฝากไปยังสมาคมฯ เพื่อขบคิด เพราะว่าจริง ๆ แล้วโลกเปลี่ยนมาก จดหมายเหตุในโลกนี้เท่าที่ผมรับรู้และก็ติดตามและก็ได้ไปร่วมเรียนรู้ในบางกรณีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เรามีเครื่องมือที่เรียกว่าเป็นโปรแกรมเป็นเรื่องของระบบไอทีเข้ามา หรือที่เขาเรียกว่า records management หรือ records and information management ผมว่ามันก้าวไกลไปมาก tools ที่จะใช้ในเรื่องนี้มันเยอะหมดเลย  เพราะฉะนั้นผมคิดว่า งานจดหมายเหตุของไทยทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของระบบไอที และ information system จดหมายเหตุมันควรจะเป็นเรื่องอันควรจดจำ ไม่ว่าจะบวกจะลบ ของตั้งแต่บุคคล จนถึงของชุมชน ของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค ประเทศ จนถึงขององค์คณะ องค์กร บริษัท ห้างร้าน มูลนิธิ รวมทั้งอะไรก็ตามของสังคมนี้ ต้องมาคัดสรร เลือกเก็บ และรวบรวมอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงจดหมายเหตุระดับชาติเท่านั้นที่ต้องเก็บไว้ ตอนนี้ก็ต้องเป็นภาระกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่จะต้องเคลียร์จดหมายเหตุจากทั้งประเทศ แล้วเอามาให้คัดว่าอันไหนเป็นแห่งชาติต้องเก็บ อันไหนไม่เก็บ อันไหนทิ้งได้ อันไหนเป็นแค่จดหมายเหตุของท้องถิ่น แต่มันก็สายไปเสียแล้วเพราะท้องถิ่นส่งมาเสียแล้ว ขณะที่ทีมจดหมายเหตุแห่งชาติก็มีกำลังน้อยมาก รัฐไทยไม่ได้เห็นคุณค่าและให้งบประมาณมากมายสักเท่าไร

 

เพราะฉะนั้นเราต้องกลับชวนคิดใหม่ว่าด้วยเรื่องของ “ความทรงจำ” มากกว่าเรื่องของ “จดหมายเหตุ” ความจริงมันเรื่องเดียวกัน  แล้วมันมีหลายระดับและเราต้องช่วยกันเก็บไว้  ผมเข้าใจว่างานที่สำคัญที่สุดก็คือ “สารบรรณ” ซึ่งระบบประเทศไทยตั้งไว้เยอะมากและก็เต็มไปหมด แต่มันเป็นเพียงแค่บันทึกเพื่อเอาไว้บริหารงานเสร็จแล้วก็จบ ความจริงงานสารบรรณที่อยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีถ้าปรับให้ดีมันก็คือจดหมายเหตุที่ดีนี่เอง  ถ้าจัดระบบดีอย่างในประเทศไทยเรามีระบบ records and management ที่ดีและก็คลี่มาเป็นจดหมายเหตุเลยก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงการต่างประเทศ เท่าที่ผมทราบ  สององค์กรนี้มีความจำเป็นต้องทำเพราะเกี่ยวกับการเงินการคลังของชาติ และเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศผลประโยชน์ของชาติ และทุกวันนี้ทราบว่าทางฝ่ายตุลาการก็ให้ความสำคัญ มิหนำซ้ำฝ่ายรัฐสภาก็ให้ความสำคัญ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีที่งานนี้ก็จะค่อยๆ เติบโต แล้วก็ขยายวง และมั่นคงยิ่งขึ้น

 

ฝากชาวสมาคมจดหมายเหตุไทยและท่านทั้งหลายที่เห็นคุณค่าเรื่องนี้มาร่วมไม้ร่วมมือกัน  หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ซึ่งเป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่เริ่มมาได้เพียง ๑๐ ปี ก็ขอปวารณาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมจดหมายเหตุไทยและวงการจดหมายเหตุของชาวไทย กระทั่งจดหมายเหตุของชาติไทยต่อไปครับ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางสาวนัยนา แย้มสาขา

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :          นางสาวนัยนา แย้มสาขา
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และที่ปรึกษาสมาคมจดหมายเหตุไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ – พ.ศ.๒๕๕๙

ผู้สัมภาษณ์ :                  นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์ :           วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :     ขณะนี้เราอยู่กับท่านนัยนา แย้มสาขา อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

นัยนา :            สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           ขออนุญาตเรียกพี่แมวนะคะ พี่แมวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ปีไหน นานเท่าไรคะ

 

นัยนา :            ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖–๒๕๕๙ ประมาณ ๔ ปี

 

วิยะดา :           ในช่วงนั้น พี่แมวท่านดำรงตำแหน่งอะไรในสมาคมจดหมายเหตุไทยคะ

 

นัยนา :            เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ

 

วิยะดา :        ช่วงเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ บุคลากรในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไร

 

นัยนา :   ถ้าในฐานะบุคคลคนหนึ่งของหอจดหมายเหตุเลยนะ เราก็มองว่าสมาคมหอจดหมายเหตุไทยเป็นที่รวมของกลุ่มนักวิชาการและวิชาชีพจดหมายเหตุที่มีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องจดหมายเหตุ และรักในเอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญทั้งหลาย  และพยายามรักษาและเผยแพร่ทั้งในแง่เอกสารจดหมายเหตุและตัวองค์กรของสมาคมเองด้วยให้คนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

วิยะดา :           พี่มองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างในช่วงแรก

 

นัยนา :            พี่มองคล้ายบุคลากรคนอื่นว่า สมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นที่รวมของนักวิชาการ เพราะตอนแรกๆ ที่อาจารย์ชาญวิทย์ตั้ง เหมือนกับในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีวิชาจดหมายเหตุ ท่านก็ให้ความสำคัญ ฉะนั้นท่านก็ร่วมกับนักวิชาการและนักวิชาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  แต่ว่าเป็นนักจดหมายเหตุ มีทั้งนักจดหมายเหตุที่มีชื่อเรียกชื่ออื่นๆ เยอะแยะ เช่น นักเอกสารสนเทศ อะไรพวกนี้ แต่ก่อนไม่เรียกนักจดหมายเหตุ จะเรียกนักจดหมายเหตุเฉพาะในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่เดี๋ยวนี้คำว่านักจดหมายเหตุเป็นคำที่ใช้ได้ทั่วไป แต่ก่อนเรียกนักเอกสารสนเทศ พวกนี้ดูแลเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญของหน่วยงาน พี่เห็นว่าเป็นองค์กรที่ดีและเป็นแหล่งรวมนักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่เค้ารวมด้านวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับจดหมายเหตุเพราะเค้าเข้าใจในเรื่องนี้

 

วิยะดา :          ช่วงที่พี่แมวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พี่แมวร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างคะ

 

นัยนา :            พี่ก็ร่วมมือทุกด้านที่ทางสมาคมจดหมายเหตุไทยขอมา อย่างเช่นเชิญไปเป็นเกียรติก็ไป ยังได้อะไรมาเยอะ คือทางสมาคมฯ ก็หาพวกเอกสารเก่าแผนที่เก่าเป็นที่ระลึก หรือว่าถ้าขอความอนุเคราะห์วิทยากรของหอจดหมายเหตุ หรือว่าขอความร่วมมือพี่ก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมอาจเป็นเรื่องการประชุมสัมมนาจะได้คุยกันเรื่องวิชาชีพของแต่ละองค์ความรู้  รวมทั้งให้ความอนุเคราะห์สถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง

 

วิยะดา :           ปัจจุบันพี่แมวมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างคะ

 

นัยนา :          ก็ยังมองเหมือนเดิมอยู่นะว่า เป็นองค์กรที่รวมนักวิชาการและนักวิชาชีพจดหมายเหตุที่วางบทบาทขององค์กรไว้ เพื่อจัดกิจกรรมเสนอวิธีการ ทางเลือกและแนวคิดใหม่ๆ ในกระบวนงานจดหมายเหตุให้เป็นที่รู้จัก ประมาณนั้นค่ะ

 

วิยะดา :           พี่แมวคาดหวังอะไรจากสมาคมจดหมายเหตุไทยบ้างคะ

 

นัยนา :            พี่ก็คาดหวังเหมือนกันว่า องค์กรนี้จะเป็นองค์กรเอกชน ที่เป็นที่ชุมนุม ชุมชนเป็นชุมชนเลยนะ เป็นชุมชนของนักวิชาชีพจดหมายเหตุที่เข็มแข็งองค์กรหนึ่ง ที่มุ่งมั่นและประสานความร่วมมือ การนำชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของไทย ให้ก้าวไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความสำคัญในเอกสารจดหมายเหตุ ให้สังคมได้รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและตระหนักในความสำคัญ อันนี้สำคัญมาก

 

วิยะดา :           อยากให้พี่เปรียบเทียบการทำงานของนักจดหมายเหตุในรุ่นปัจจุบันว่าแตกต่างจากรุ่นเก่าอย่างไร

 

นัยนา :            แตกต่างกันแต่ไม่มาก แต่อย่างไรก็เขายังคงดูแลเรื่องเอกสารจดหมายเหตุ แต่การทำงานของนักจดหมายเหตุรุ่นก่อนต้องฝ่าฟันและแสวงหาวิชาการเพื่อสร้างศักดิ์ศรีของตัวเองให้กับวิชาชีพนี้ และให้สังคมรับรู้และยอมรับว่า นักจดหมายเหตุมีหน้าที่อะไร และเราทำอะไร เพราะว่าแต่ก่อนคนจะไม่รู้จัก ถ้าเราพูดเรื่องนักจดหมายเหตุ หรือจดหมายเหตุ  คำว่าจดหมายเหตุกรุงศรี ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่เขาใช้เอกสารของเราไปเป็นข้อมูลสำหรับทำรายการ แต่นักจดหมายเหตุรุ่นใหม่คงยังต้องอย่างนั้น ต้องฝ่าฟันและแสวงหาวิชาการ เพราะว่าวิชาการจดหมายเหตุไม่หยุดนิ่ง เพราะว่าเรามีสมาคมจดหมายเหตุสากลของนานาชาติ เขาจะมีนักจดหมายเหตุที่คิดทั้งในแง่ของวิธีการ ที่เดี๋ยวนี้ไปในโลกของดิจิทัลบ้าง การอนุรักษ์อะไรพวกนี้ เขาจะมีแนวใหม่ๆ ที่มานำเสนอวิธีการเก็บ วิธีการรักษา ซ่อม อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอยากให้ฝ่าฟัน เพราะว่าอย่างไรน้องๆ ยังน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ  เพราะเดี๋ยวนี้คนเริ่มรู้จักจดหมายเหตุพอสมควรแล้วค่ะ แต่ว่ายังรู้จัก ยังไม่ชัดเจนมาก รู้จักในแง่ใช้เฉยๆ หมายถึงใช้เป็นภาพเก่าเป็นอะไรพวกนี้ แต่ยังไม่เข้าถึงว่า เอกสารจดหมายเหตุที่มาควรเป็นอย่างไร เขามีความสามารถหรือมีบทบาทอะไรที่จะช่วยอะไรกับองค์กรหรือเอกสารจดหมายเหตุสำคัญของชาติได้บ้าง

 

วิยะดา :           พี่แมวมีคำแนะนำอะไรจะฝากไปถึงนักจดหมายเหตุรุ่นใหม่ไหมคะ

 

นัยนา :            ต้องฝากน้องๆ ว่าต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์นะคะ ต่อวิชาชีพ และมุ่งมั่น อดทน สู้ๆ กับอุปสรรคทั้งหลาย เพราะว่าอย่างไรก็อีกยาวนาน ในเรื่องของวิชาชีพที่เป็นเกี่ยวกับภูมิปัญญาอะไรพวกนี้ คนจะยังไม่เข้าใจ ถ้าอ้างอิงก็พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ท่านพูดว่า ขาดทุนคือกำไร อันนี้เรากำลังทำคือลงทุน แต่ว่าขาดทุน ในแง่ที่ว่าเราไม่ได้เม็ดเงินกลับมา แต่เราได้ข้อมูลวิชาความรู้ให้สำหรับคนรุ่นหลังได้ใช้

 

วิยะดา :           สุดท้ายนี้อยากให้พี่แมวช่วยฝากอะไรถึงสมาคมจดหมายเหตุไทยในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ค่ะ

 

นัยนา :        อยากให้สมาคมฯ มุ่งมั่นในประณิธานเมื่อแรกตั้งว่า จะเป็นที่สำหรับรวมนักวิชาการและนักวิชาชีพจดหมายเหตุ และขอให้เติบโตอย่างมั่นคงเป็นกำลังสำคัญองค์กรหนึ่งของชุนชนคนเห็นคุณค่าวิชาชีพจดหมายเหตุ เอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญของชาติ และนำพาจดหมายเหตุของเราให้ไปทัดเทียมกับจดหมายเหตุนานาชาติ ซึ่งเราก็ไม่น่าจะไกลจากตรงนั้นเท่าไรเพราะเราก็ทำได้ค่ะ

 

วิยะดา :    ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ต้องขอบพระคุณพี่แมวเป็นอย่างสูงค่ะ ที่ได้กรุณาเข้ามาร่วมกับสมาคมฯ ให้ความรู้ รวมทั้งให้ความร่วมมือต่างๆ ด้วยดีมาตลอด และในวันนี้ยังให้เกียรติมาสัมภาษณ์แก่สมาคมจดหมายเหตุไทยในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ด้วยก็ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 

นัยนา :            ยินดีค่ะ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางวนิดา จันทนทัศน์

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             นางวนิดา จันทนทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย
                                              อดีตเลขานุการโครงการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สัมภาษณ์ :                     นางศิริเพ็ญ น้าสกุล

วันที่สัมภาษณ์ :               วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

ศิริเพ็ญ :          วันนี้เราอยู่กับเลขานุการสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านแรก คุณวนิดา จันทนทัศน์ สวัสดีค่ะ พี่วนิดา

 

วนิดา :            สวัสดีค่ะ

 

ศิริเพ็ญ :          ไม่ทราบว่าพี่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยตั้งแต่เมื่อไรคะ

 

วนิดา :            เรื่องของสมาคมจดหมายเหตุไทย เริ่มมาจากนายกสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านแรกคือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริท่านเป็นประธานโครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ดิฉันเป็นเลขานุการโครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เลยต้องทำงานกับท่านมาตั้งแต่แรก โครงการหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ๒๕๔๓ ท่านมาริเริ่มก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย เมื่อปี ๒๕๔๓ ช่วงนั้นเป็นเรื่องของคณะก่อการที่เริ่มทำกันขึ้น แต่ว่าหอจดหมายเหตุไทยเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๔ จดทะเบียนตามระเบียบที่สันติบาล ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ The Association of Thai Archives อันนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่ข่าวสารทั้งหลายมันเป็นที่รับรู้ของสังคมในช่วงนั้น สถาบันต่างๆ เลยเคลื่อนไหวที่จะประสานงานกันให้มีหอจดหมายเหตุขึ้น หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์จึงเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันเรื่องนี้ขึ้น เพื่อเสนอปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่มีปัญหา เช่น เรื่องงบประมาณ อัตรากำลัง บุคลากรที่ไม่มีความรู้จดหมายเหตุเลย หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เลยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหน่วยงานจดหมายเหตุขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ซึ่งรายชื่อผู้ก่อการสมาคมจดหมายเหตุไทย คือ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, พญ.กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, ดร.สมสรวง พฤติกุล, คุณกรรณิกา ชีวภักดี จากกรมประชาสัมพันธ์, คุณขนิษฐา วงศ์พาณิช จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ,  ดิฉันวนิดา จันทนทัศน์, คุณโดม สุขวงศ์ จากหอภาพยนตร์, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ จากหนังสือพิมพ์ต้นฉบับซึ่งเป็นเอกชนแห่งเดียว และคุณสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรามีการประชุมเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ ร่างระเบียบสมาคมฯ และเปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ มีกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี มีการจัดประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี  วัตถุประสงค์ ซึ่งสังเคราะห์มาได้เพื่อให้เข้าใจง่าย มี ๘ ข้อ คือ

๑. เพื่อรวมกลุ่มบุคลากรและองค์กรวิชาชีพจดหมายเหตุเป็นสื่อประสานงานกลางให้บุคลากรผู้ปฏิบัติงานจัดการจดหมายเหตุดำเนินงานขององค์กร

๒. ส่งเสริมผลักดันการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยวิชาการด้านจดหมายเหตุ และระบบงานจัดเก็บเอกสาร ถ้ามีการจัดเก็บเอกสารดีก็จะสะดวกอย่างมากของระบบงานจดหมายเหตุของแต่ละหน่วยงาน

๓. เพื่อประสานข้อตกลงร่วมมือในการจัดระเบียบมาตรฐานการจัดเก็บ การอนุรักษ์ ระบบจัดการจดหมายเหตุ และเอกสารข้อมูลทุกรูปแบบที่ยังคงอยู่ในกระแสการใช้งาน

๔. เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจงานจดหมายเหตุ

๕. เพื่อสนับสนุนเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ในการปฏิบัติงานบุคลากรด้านจดหมายเหตุด้วยการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

๖. เพื่อประสานสัมพันธ์กับนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักการศึกษา นักประวัติศาสตร์

๗. เพื่อประสานความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรจดหมายเหตุร่วมกัน

๘. เพื่อประสานสัมพันธ์ และร่วมมือกันกับองค์กรหอจดหมายเหตุระหว่างประเทศและหอจดหมายเหตุในต่างประเทศ

                   เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์

 

ศิริเพ็ญ :          ในการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุไทยในช่วงแรก มีลักษณะการดำเนินการอย่างไรบ้าง

 

วนิดา :            คืองานช่วงแรก เหมือนเป็นงานที่ค่อนข้างอาสาสมัครจริงๆ และกรรมการทุกท่าน ก็มีภารกิจในหน่วยงานค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นเนื้องานส่วนใหญ่จะอยู่ในหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ขณะนั้นดิฉันเป็นเลขานุการของโครงการจดหมายเหตุเหมือนกับทำทุกหน้าที่ที่เป็นงานของสมาคมจดหมายเหตุ ตั้งแต่จัดประชุม ประชุมของคณะกรรมการ ประชุมสามัญประจำปี และดำเนินการหาทุนคือทำทุกหน้าที่ที่เป็นงานของสมาคมจดหมายเหตุ โดยที่จะมีนักจดหมายเหตุของโครงการและมีฟรีแลนซ์ ที่เราจ้างมา เขาจะช่วยประสานงานทั้งหมดและงานที่จัดครั้งแรกๆ  เนื่องจากท่านนายกสมาคมจดหมายเหตุท่านเป็นกรรมการของมูลนิธิโตโยต้าด้วย เพราะฉะนั้นเราได้เงินสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้าพอสมควรสำหรับโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เอางานของหอจดหมายเหตุ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาประจำปีของมูลนิธิโตโยต้า เราก็ได้อาศัยส่วนนั้นจัดงานขึ้นมาโดยที่เราไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์ของสมาคมฯ มากนัก

 

ศิริเพ็ญ :          ตลอดการดำเนินงาน ๒๐ ปีของสมาคมจดหมายเหตุไทย ไม่ทราบว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไรบ้างคะ

 

วนิดา :            แรกๆ งานมันเล็กๆ ก็ยังไม่ค่อยมีอะไร แต่หลังจากนั้นมีการขยายงานมากขึ้น ก็มีเรื่องของทุน ซึ่งเราเป็นหน่วยงานที่เล็กๆ เรียกว่ายังไม่เป็นที่สนใจของธุรกิจมากนัก การหาทุนอะไรค่อนข้างลำบาก เราก็ใช้เงินส่วนหนึ่งจากเงินสมาชิกซึ่งน้อยมาก แต่ว่าส่วนหนึ่งนายกคนปัจจุบัน คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ก็แนะนำให้ไปขอเงินจากกองสลาก ได้มาจัดงานครั้งแรก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ปีต่อมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งเราเคยเปิดตัวแผนที่โบราณสยามประเทศไป พิมพ์แผนที่มอบให้ และให้ทุนสนับสนุนบ้าง และมีหน่วยงานบางแห่งซึ่งอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวก็ขอเงินมาได้บ้าง เช่น บางจาก พอที่จะดำเนินการมาได้เรื่อยๆ และไปจัดตามต่างจังหวัด แม้แต่ดูงานต่างประเทศเราเคยจัดไปดูงานที่หอจดหมายเหตุ มาเลซียและสิงคโปร์ ครั้งหนึ่งในช่วงประชุมใหญ่สามัญประจำปีเราจัดสม่ำเสมอและจัดหลายวัน เนื่องจากท่านนายกสมาคมจดหมายเหตุไทยท่านเป็นกรรมการของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยด้วย เพราะฉะนั้นเราได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยต้าเพื่อจัดกิจกรรมของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทุกปี เราจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมนี้ทำให้การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมจดมายเหตุไทยในสมัยนั้นได้มีการจัดไปต่างจังหวัดบ่อยๆ ทุกปี  เช่น ๒๕๔๗ จัดที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ, ๒๕๔๘ จัดที่โรงแรมเพิร์ล ร่วมกับราชภัฏ ภูเก็ต, ๒๕๔๙ จัดที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏ อุบลราชธานี, ๒๕๕๑ จัดที่โรงแรมนครพนมริเวอร์วิว ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม ปีนี้เป็นปีที่เราเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นสมาคมจดหมายเหตุสยาม, ๒๕๕๒ จัดที่โรงแรมเวียงอินน์ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, ๒๕๕๓ จัดที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ซังฮี้ และจัดภาคสนามที่จันทบุรี ตราดและเกาะกง กัมพูชา

หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นจดหมายเหตุสยาม เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ซึ่งท่านนายกสมาคมฯ ท่าน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่านรณรงค์ให้เปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็นประเทศสยาม ท่านให้นโยบายดำเนินการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นจดหมายเหตุสยามด้วย ท่านให้เหตุผลว่า เพื่อหลักการของการสมานฉันท์ การยอมรับความหลากหลายของเชื้อชาติ ภาษาอัตตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เดิมเราชื่อประเทศสยาม เราเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นไทย เมื่อปี ๒๔ มิถุนายน  ๒๔๘๒ ท่านจะให้กลับไปใช้ชื่อเหมือนเดิม ดิฉันในฐานะที่เป็นเลขานุการก็ดำเนินตามที่ท่านมอบหมายมา ก็ไปเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนใช้เวลาค่อนข้างมาก ต้องไปที่กระทรวงมหาดไทย ที่ที่เปลี่ยนคือวังไชยานางเลิ้ง ทะเบียน ไปหลายรอบมากจนได้เปลี่ยนเป็นสมาคมจดหมายเหตุสยามก็ใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่นั้นจนถึง น่าจะประมาณ ๒๕๖๐–๖๑ จนเปลี่ยนเป็นสมาคมจดหมายเหตุไทยอีกครั้งหนึ่งสมัยที่คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ มารับตำแหน่ง

 

ศิริเพ็ญ :          ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยจะดำเนินงานครบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน นี้ อยากให้พี่วนิดาให้ข้อคิดและอวยพรให้สมาคมฯ ค่ะ

 

วนิดา :            สมาคมจดหมายเหตุไทยตั้งมา ๒๐ ปี อยากให้สมาคมนี้เป็นองค์กรนี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ช่วยสนับสนุน เป็นตัวอย่างของการจัดทำมาตรฐานจดหมายเหตุ ระบบจัดเก็บเอกสารซึ่งเป็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการบริหารงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ถ้าเรามีระบบจัดเก็บเอกสารดีเป็นระบบ ทำให้เราสามารถรู้ที่มาที่ไปขององค์กรที่เราเป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ช่วยในการบริหารงานของหน่วยงานทั้งหลายจะได้มีสิ่งที่อ้างอิงและวางแผนในอนาคตต่อไปได้ด้วย

 

ศิริเพ็ญ :          สุดท้ายนี้สมาคมจดหมายเหตุไทย ขอขอบพระคุณพี่วนิดา จันทนทัศน์ ที่มาให้ความรู้และเกร็ดของสมาคมในวันนี้

 

วนิดา :            ยินดีค่ะ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :             นางสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม   ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย                                                      และอดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ผู้สัมภาษณ์ :                      นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์ :                วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับท่านสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม หรือพี่แม็ค อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, รองอธิบดีกรมศิลปากร และผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เคยเป็นกรรมการของสมาคมฯ และที่ปรึกษาสมาคมฯ สวัสดีค่ะ

 

สุรีย์รัตน์ :         สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           ท่านเข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมฯ ตั้งแต่ปีไหนถึงปีไหน รวมเป็นระยะเวลาเท่าไรคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ตอนที่ร่วมงานกับสมาคมฯ พี่ได้เป็นผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๙–๒๕๕๕ ก่อนที่จะไปกรมศิลปากรค่ะ

 

วิยะดา :           ใครเป็นผู้ทาบทามให้มาร่วมก่อการ

 

สุรีย์รัตน์ :         อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  เป็นนายกสมาคมฯ อาจารย์มาติดต่อมาประสานงานร่วมกัน มาประชุมร่วมกัน อาจารย์ก็ได้เชิญให้เป็นกรรมการค่ะ

 

วิยะดา :           ในช่วงเริ่มก่อตั้งบุคคลากรในหอจดหมายเหตุแห่งชาติมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไร

 

สุรีย์รัตน์ :         ในความคิดของพี่เอง มีความรู้สึกว่าการที่หน่วยงานของราชการได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีความเข้าใจและมีความสนใจงานจดหมายเหตุ พี่คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่เราจะได้ร่วมกันทำงานและเผยแพร่งานจดหมายเหตุสู่ประชาชนทั่วไป เพราะงานนี้ยังไม่ค่อยมีคนเข้าใจ ว่างานจดหมายเหตุทำอะไร มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้บ้าง พี่คิดว่าเป็นงานที่ควรจะทำร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มาร่วมมือกันเผยแพร่งานจดหมายเหตุนี่ค่ะ

 

วิยะดา :           ในความเห็นของท่าน ท่านมองสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ก็ดีนะคะ ในระยะที่พี่เริ่มมาทำงานเราก็มีกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประชุมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับงานจดหมายเหตุให้กับประชาชนโดยทั่วไปที่สนใจ โดยได้วิทยากรจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีกิจกรรมร่วมกันและมีการออกวารสารที่ให้ความรู้และมีข้อมูลรายละเอียดเรื่องเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งบรรดาสมาชิกก็จะได้เอกสารเหล่านี้ไปได้เรียนรู้มีประโยชน์มากเลยค่ะ

 

วิยะดา :           ในสมัยนั้นหอจดหมายเหตุแห่งชาติร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรบ้าง

 

สุรีย์รัตน์ :         ก็มีด้านวิชาการ ได้ให้ความร่วมมือในการให้สถานที่ ให้วิทยากรที่จะร่วมกิจกรรมในการจัดประชุมสัมมนา และมีการเชิญชวนให้เป็นสมาชิกกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านจดหมายเหตุ

 

วิยะดา :           มุมมองของท่านต่องานจดหมายเหตุไทยในปัจจุบัน ท่านเห็นอย่างไร

 

สุรีย์รัตน์ :         ในปัจจุบันนี้ยังอยากให้มีเอกสารจดหมายเหตุ ยังทำอยู่ใช่ไหมคะ อยากให้มีเอกสารจดหมายเหตุ และเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์  โดยเฉพาะอยากให้มีนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่ให้ความสนใจและเข้ามาร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯ

 

วิยะดา :           ความคาดหวังของท่านต่อสมาคมจดหมายเหตุไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

 

สุรีย์รัตน์ :         ความคาดหวังอยากให้มีงานต่างๆ ที่จะเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุหรืองานจดหมายเหตุให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อยากให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงคุณค่าของเอกสารจดหมายเหตุ ให้เข้ามาใช้กันมากๆ ได้ศึกษาได้เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเอกสารจดหมายเหตุถือว่าเป็นความรู้ที่จะทำให้ประชาชนหรือนิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้อดีตของตัวเอง จะมีความรักความเข้าใจในบรรพบุรุษของเรา ที่ได้สร้างสรรค์งานที่ออกมาในรูปเอกสาร อยากให้มีความซาบซึ้งและเข้าใจและได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

วิยะดา :           มีอะไรที่ท่านจะฝากถึงนักจดหมายเหตุในรุ่นปัจจุบันบ้างคะ

 

สุรีย์รัตน์ :         นักจดหมายเหตุรุ่นปัจจุบัน ทางสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็พยายามที่จะจัดกิจกรรม ซึ่งในปีต่อๆ ไปในงบประมาณต่อๆ ไป จะมีการประชุมสัมมนาให้ความรู้ พยายามกระตุ้นให้นักจดหมายเหตุได้มีความรู้อย่างกว้างขวางในงานจดหมายเหตุ และพยายามที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานจดหมายเหตุ ในส่วนของนักจดหมายเหตุที่สังกัด ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เขาจะได้มีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะว่านักจดหมายเหตุรุ่นเก่าๆ ได้เกษียณอายุราชการกันไปหลายๆ ท่านแล้ว  เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาบรรจุใหม่ เขายังไม่เคยเรียนรู้งานจดหมายเหตุ ในมหาวิทยาลัยที่ตัวเองจบได้มา การทำงานจดหมายเหตุต้องมาฝึกฝน มีการอบรมจากผู้รู้ คือ พี่ๆ ที่เกษียณไปแล้วให้น้องๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจ เหมือนการสืบทอดถ่ายทอดงานจดหมายเหตุจากรุ่นสู่รุ่น เขาจะได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในหน้าที่ของตัวเอง อันนี้สำคัญที่สุดและได้เห็นคุณค่า มีความรักในเอกสาร มีความรักในงานที่ทำ

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ขอบพระคุณพี่แม็คเป็นอย่างสูงที่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ร่วมให้ความรู้และทำงาน วันนี้ยังให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับสมาคมจดหมายเหตุไทย ขอบคุณค่ะ

 

สุรีย์รัตน์ :         ยินดีค่ะ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดยนางสาวกรรณิกา ชีวภักดี

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : นางสาวกรรณิกา ชีวภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย
                                และอดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับคุณกรรณิกา ชีวภักดี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย และอดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย สวัสดีค่ะ

 

กรรณิกา :         สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           อาจารย์เข้ามาทำงานกับสมาคมฯ ตั้งแต่เมื่อไรและเข้ามาได้อย่างไรคะ

 

กรรณิกา :  ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ขณะนั้นกำลังก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งสมาคมจดหมายเหตุไทยก่อตั้งหลังพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ๑ ปี โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล อาจารย์สอนและบริหารงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ให้ไปช่วยกันก่อตั้งสมาคมฯ ตอนนั้นกำลังทำงานที่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ อาจารย์กรุณาเสียสละเวลาเดินทางไป ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เพื่อบรรยายและทำความเข้าใจให้กับบุคลากรของกรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้นได้ทราบว่า จดหมายเหตุคืออะไร ในองค์กรของเรามีอะไรที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุบ้าง  ต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากันอย่างไร ซึ่งขณะนั้น (ปี ๒๕๔๓) คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวของหอจดหมายเหตุแม้แต่ผู้บริหาร มีหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้ว ทำไมเราถึงต้องมีหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้นเมื่ออาจารย์เดินทางไปบรรยายให้ความรู้ทางด้านจดหมายเหตุ  ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองผลิตและไม่ได้จัดเก็บและลบทิ้งไป ทำให้เราสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากในขณะนั้น  อาจารย์เมื่อช่วยเราทำงานแล้ว อาจารย์บอกว่าให้มาช่วยงานสมาคมจดหมายเหตุไทย ก็ยินดีตามที่อาจารย์ให้ไปช่วย ทำไปทำมาจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา ๒๐ ปี แล้วค่ะ ต้องขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ ท่าน รศ.ดร.สมสรวง พฤติกุล เป็นอย่างสูงที่ได้เปิดโอกาสให้มาร่วมงานกับสมาคมจดหมายเหตุไทยและได้เปิดโลกทัศน์งานจดหมายเหตุให้กับพวกเรา

 

วิยะดา :           อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย

 

กรรณิกา :         ต้องย้อนเวลาไปเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว รู้สึกดีใจ ยินดี และอยากให้มีอย่างยิ่ง เพราะว่าเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น ฟิลิปปินส์เค้าก็มีสมาคมนักจดหมายเหตุจดหมายเหตุ เรียก SFA ก่อตั้งปี ๒๕๓๓ ต่อมาเขาก็มีสมาคม SOFIA เป็นสมาคมที่รวมตัวของนักจดหมายเหตุด้านภาพยนตร์ ก่อตั้งปี ๒๕๓๖ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราก็มีสมาคม SEAPAVAA หรือสมาคมอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิค ก่อตั้งปี ๒๕๓๙ ประเทศไทยถือว่าเป็นบ้านเกิดของสมาคม SEAPAVAA เลยนะคะ เพราะว่าตอนนั้นสมาคมฯ นี้มาเขียนธรรมนูญหลักกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสมาคมฯ ที่ประเทศไทยโดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพ ในปี ๒๕๓๘ สมัยนั้นก็เป็น สมัยคุณเตือนใจ สินธุวณิก ช่วยทำให้เกิดสมาคม SEAPAVAA กับภูมิภาคนี้ ถ้ามองไปอีก ถ้าเป็นสมาคมของนักจดหมายเหตุ ที่เรียกว่าสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ หรือ ICA ก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ เพราะฉะนั้นเมื่อมีสมาคมจดหมายเหตุไทยในปี ๒๕๔๔ ก็รู้สึกว่าดีนะที่ประเทศไทยจะได้พัฒนางานจดหมายเหตุให้มีมาตรฐานและมีแหล่งที่จะชุมนุมวิชาการร่วมกันของคนในประเทศ

ขณะเดียวกันสมาคมจดหมายเหตุไทยก็ช่วยหลายอย่างกับตัวดิฉันเอง เช่น ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานในระยะแรกของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ดิฉันเองก็เป็นนักจดหมายเหตุมือใหม่ ถึงแม้จะเรียนมาบ้าง ผ่านการปฏิบัติงานภาคสนามมาบ้าง แต่ว่ายังมีประสบการณ์น้อยกว่านักจดหมายเหตุมืออาชีพเยอะเลย เพราะฉะนั้นเพื่อนในวงการนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะได้มีการแลกประสบการณ์ ความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้การทำงานของเราไม่โดดเดี่ยว ในขณะเดียวกันการเข้ามาทำงานกับสมาคมจดหมายเหตุไทยเหมือนกับการเล่นการเมืองในองค์กร เพราะว่าการที่เราได้เข้ามาทำงานเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริหารองค์กรได้ให้งบประมาณ และยอมให้ทำงานด้านการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ ถ้าจะดูแล้วเหมือนกับเป็นการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ เพราะว่ากรมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งองค์กรผลิตสื่อโสตทัศน์ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงมากมายมหาศาล ถ้าเรารู้จักเก็บจะเป็นคลังจัดเก็บมรดกโสตทัศน์ที่สำคัญของประเทศ

 

วิยะดา :           การทำงานกับสมาคมฯ ในช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง

 

กรรณิกา :         ตอนนั้นท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เองท่านดำรงตำแหน่งประธานโครงการสมาคมจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มีอาจารย์วนิดา จันทนทัศน์ เป็นเลขานุการของโครงการฯ เพราะฉะนั้นในการทำงานของสมาคมฯ ตอนนั้นทั้ง ๒ ท่านจะทำงานด้วยกัน เนื่องจาก อาจารย์วนิดา จันทนทัศน์ จริงๆ แล้วโดยตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุกาสมาคมฯ มีคุณโดม สุขวงศ์ เป็นเลขานุการของสมาคมจดหมายเหตุไทย แต่ในเชิงของการปฏิบัติงานแล้วอาจารย์วนิดา เปรียบเป็นเลขานุการของสมาคมฯ อาจารย์จะไหว้วานให้อาจารย์วนิดาทำงาน ต่อมาก็มีคุณดาวเรือง แนวทอง อีกท่านหนึ่งเป็นบุคลากรของโครงการจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เช่นกันและมาเป็นกรรมการของสมาคมฯ ในชุดที่ ๒ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานแล้ว ส่วนใหญ่แล้วทั้งสามท่านจะทำงานด้วยกัน ส่วนตำแหน่งที่มีอยู่ทางสมาคมฯ เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งขึ้น อย่างตัวดิฉันเองเป็นเหรัญญิกคนแรกของสมาคมฯ แต่ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับการเงิน ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายทะเบียนก็ไม่เคยทำงานเกี่ยวกับทะเบียนเป็นต้น เพราะฉะนั้นการทำงานของสมาคมฯ เป็นการช่วยกันทำงาน และถ้าหากอาจารย์ต้องการให้ใครทำอะไรอาจารย์จะไหว้วานเป็นครั้งคราว การที่เรามีนายกสมาคมฯ มีบทบาทหลายอย่าง

นอกจากบทบาทดังกล่าวแล้ว ตัวท่านอาจารย์เองยังเป็นเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ทำให้การจัดงานของสมาคมจดหมายเหตุไทย การประชุมใหญ่สามัญประจำปีและประชุมทางวิชาการเราก็อิงกับโครงการนี้ เวลาจัดงานแต่ละครั้งอาจารย์ไม่หวังในเรื่องของกำไร ถ้าหากสมาคมฯ มีเงินเยอะ ได้รับความช่วยเหลือมา อาจารย์จะผลิตหนังสือ เช่น จดหมายข่าวผลิตเพื่อที่จะแจกจ่ายให้กับสมาชิกเวลาเข้าประชุม เป็นจดหมายข่าวที่มีคุณค่ามาก นอกจากนั้นอาจารย์ยังผลิตแผนที่แจกผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นแผ่นที่เก่าที่ทุกคนอยากได้ นอกจากนั้นอาจารย์ริเริ่มให้มีเว็บไซต์ของสมาคมฯ ขณะเดียวกันสมาคมจดหมายเหตุไทยจัดสัมมนาสัญจรสู่ภูมิภาค โดยที่อาจารย์เองไม่ชอบหยุดนิ่งอยู่กับที่ อาจารย์ก็จะพาเราออกไปประชุมตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ นอกจากนี้สมาคมฯ ยังมีความคิดริเริ่มในการอบรมทางวิชาการ ตอนนั้นมี ท่าน รศ.ดร.สมสรวง พฤติกุล เป็นประธานสายวิชาการ ท่านจัดอบรมครั้งแรกหลักสูตรการบริหารงานจดหมายเหตุ โดยร่วมกับ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมกับจัดทำคู่มือการอบรมหลักสูตรการบริหารงานจดหมายเหตุด้วยในปี ๒๕๕๐ ส่วนในการประชุม สมาคมฯ เราไม่ได้หวังกำไร ฉะนั้นในการประชุมถ้าหากกล่าวถึงกำไร จำได้แม่นเลยนะคะ อาจารย์จะพูดว่า อย่ากินเลย ปลาซิวปลาสร้อย ให้กินปลากะพงดีกว่า

 

 

วิยะดา :        พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ให้ความร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุอย่างไรบ้าง

 

กรรณิกา  :        กรมประชาสัมพันธ์ผลิตสื่อโสตทัศน์เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นเราเลยพยายามช่วยสมาคมฯ หาวิทยากรที่จะมาจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเกี่ยวกับสื่อโสตทัศน์เราหาวิทยากรมาให้ วิทยากรชาวต่างชาติ จากไต้หวันเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๖๐ เราริเริ่มให้กับสมาคมฯ จัดงานวันจดหมายเหตุสากล วันที่ ๙ มิถุนายน เริ่มครั้งแรกปี ๒๕๕๘ ร่วมกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดงานในวันจดหมายเหตุสากล  ปี ๒๕๕๗ เว้นว่าง กำลังเปลี่ยนผ่านจากนายกคนเดิมสู่นายกคนที่ ๒ ของสมาคม คือ ท่านธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เราช่วยเหลือสมาคมฯ โดยร่วมกับหอภาพยนตร์ จัดงานวันมรดกโสตทัศน์โลกแห่งประเทศไทย เราให้เวลากับสมาคมส่วนหนึ่งในการจัดสัมมนาทางวิชาการและประชุมประจำปีด้วย กรมประชาสัมพันธ์ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์เวลาเราจัดกิจกรรมอะไรที่สำคัญเราจะเชิญสมาคมจดหมายไทยเข้าร่วมในการจัดงานด้วยเป็นครั้งคราว อย่างเช่น จัดงาน ๖๐ ปีโทรทัศน์ไทยเราก็เชิญสมาคมจดหมายเหตุไทยร่วมจัดงานด้วย

การประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ช่วยส่งเสริมสมาคมจดหมายเหตุไทยให้เป็นที่รู้จักในสังคมทั้งในประเทศและในต่างประเทศด้วยค่ะ อย่างเช่น การประชุมกับ SEAPAVAA และ AMIA ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา ในปี ๒๕๔๖ ตอนนั้นครบ ๓๐ ปี ๑๖ ตุลา ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ผลิตสื่อเกี่ยวกับ ๑๖ ตุลา ท่านเมตตาให้นำสื่อนั้นไปเผยแพร่ให้ฟรี เรานำสมาคมจดหมายเหตุไทยออกเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ นี่เป็นบทบาทที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ทำงานร่วมกับสมาคมจดหมายเหตุไทย ถึงแม้นว่าปัจจุบันจะเกษียณจากกรมประชาสัมพันธ์แล้วยังช่วยงานสมาคมฯ ขณะนี้ยังร่วมกันกับคณะกรรมการท่านอื่นๆ ของสมาคมฯ จัดทำโครงการประวัติศาสตร์บอกเล่า ในโอกาส ๒๐ ปีสมาคมจดหมายเหตุไทย ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ตอนนี้ในช่วงโควิด-๑๙ การจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่าของเราจัดทำแบบรวบรัด ท่านสามารถติดตามผลงานของสมาคมจดหมายเหตุไทยได้ต่อไป

 

วิยะดา :           มุมมองของอาจารย์ต่องานจดหมายเหตุไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

กรรณิกา :     งานจดหมายเหตุในปัจจุบันมีอยู่ ๒ แบบ คือจดหมายเหตุแบบดั้งเดิมหรือ Traditional Archives ในรูปของกระดาษก็เห็นเป็นกระดาษ ไปเลยหรือในรูปสื่อโสตทัศน์เช่น ฟิล์มภาพยนตร์ หรือรูปเทป magnetic ภาพเคลื่อนไหว เช่น เทป U-matic เทป ๒ นิ้ว เทป ๑ นิ้ว วิดีโอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ล้าสมัยไปแล้ว รวมถึงการจัดเก็บซีดี การจัดเก็บเสียงในคลาสเซทเทป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจดหมายเหตุแบบดั้งเดิม ที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บ ต้องพยายามนำสื่อแต่ละชนิดหรือเอกสารที่เป็นการะดาษไปสแกนเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างในการจัดเก็บให้เป็นดิจิทัลให้หมด ในขณะเดียวกันมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อย่างดี เช่น หอภาพยนตร์ จัดเก็บฟิล์มได้ดี ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ผลิตต่างๆ ไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ในการแปลงระบบจากดั่งเดิมอนาล็อกให้เป็นดิจิทัลแล้ว ส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญทำให้ข้อมูลในรูปอนาล็อกหายไปจากสังคมได้ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจุบันคือจดหมายเหตุที่เป็นดิจิทัล มีหน่วยงานที่ทำงานเอกสาร โดยเฉพาะการผลิตสื่อโสตทัศน์มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือเป็นรูปแบบดิจิทัลหมด  ดังนั้นสิ่งที่ผลิตออกมาได้ไฟล์ที่เป็นดิจิทัล แต่น่าเสียดายที่หลายองค์กรไม่มีหลักเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าของ เอกสารดิจิทัลที่ผลิตขึ้นเพื่อที่จะจัดเก็บเป็นเอกสารจดหมายเหตุดิจิทัลขึ้นมา ทำให้การผลิตอย่างเสรี มีการเลือกเก็บหรือไม่เก็บอย่างเสรีทำให้ไฟล์ถูกลบออกไปได้อย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้น นักจดหมายเหตุเองจะต้องเรียนรู้เรื่องของการจัดเก็บในระบบดิจิทัลว่าจะต้องจัดเก็บอย่างไร ขณะเดียวกันสถานที่ในการจัดเก็บต้องมีทุน สร้างที่จัดเก็บไหม พื้นที่จัดเก็บมี back up ไหม พื้นที่ในการจัดเก็บควรสักเท่าไร คุณภาพไฟล์ที่จัดเก็บจะเป็นเช่นไร  ความปลอดภัยของเครื่องมือในการจัดเก็บ ที่จัดเก็บ และตัวไฟล์ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักจดหมายเหตุต้องคำนึงถึง

หลักเกณฑ์ในการประเมินคุณค่าเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญมาก ที่จะบ่งบอกว่า ข้อมูลที่มีหลากหลายนั้นอันไหนเป็นข้อมูลสำคัญที่เป็นข้อมูลจดหมายเหตุที่จะจัดเก็บไว้ให้ลูกหลานต่อไป ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการสื่อสารอย่างมือถือเข้ามาเปลี่ยนสภาพในการสื่อสารอย่างเดียว สามารถพิมพ์ข้อความได้ สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ ถ่ายภาพนิ่งได้ ยังเป็นเครื่องบันทึกเสียงได้อีก สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการสื่อสารในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเป็นที่นิยมของคนทุกวัย ส่วนใหญ่การสื่อสารผ่านช่องทางที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย มีทั้ง Facebook Page, Youtube, Twitter, Instagram แล้วแต่ใครจะเลือกช่องทางไหน โดยเฉพาะ Line สิ่งเหล่านี้ข้อมูล เมื่อผลิต (บันทึก) แล้วจะเผยแพร่กันเลยเมื่อเผยแพร่แล้วทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนพลเรือน (Citizen Journalist) ได้ ขณะเดียวกันทุกคนสามารถเป็นนักจดหมายเหตุประชาชน (Citizen Archivist) ได้ สามารถที่จะสร้างสรรค์และก็สะสมมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ได้ ถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นรู้ช่องทางในการผลิต ในการคัดเลือกและในการจัดเก็บอย่างถูกวิธี นักจดหมายเหตุเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดิจิทัลแล้ว ท่านยังต้องส่งความรู้เหล่านี้ออกสู่ประชาชน อีกหน่อยก็ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับนักจดหมายเหตุระดับองค์กรเท่านั้น แต่เป็นภาคประชาชนที่เราจำเป็นจะต้องเผยแพร่การจัดเก็บเพื่อให้สิ่งที่ผลิตเป็นจดหมายเหตุได้อย่างสมบูรณ์ และทำอย่างไรนักจดหมายเหตุถึงจะแยกกากเอาแก่นออกมาได้เพราะข้อมูลหลากหลายทั่วทิศทั่วทางมาก

 

วิยะดา :           อะไรคือความคาดหวังของอาจารย์ต่อสมาคมจดหมายเหตุไทย

 

กรรณิกา :    ในโอกาส ๒๐ ปีสมาคมจดหมายเหตุไทยต้องขอกราบขอบพระคุณท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ท่านเห็นคุณค่าของเอกสารชั้นต้นและก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น และสมาคมฯ นี้ ดำเนินงานมาจนถึง ๒ ทศวรรษ ในโอกาสนี้ขอขอบพระคุณสมาชิกทุกๆ ท่านรวมถึงกรรมการที่เคยทำงานด้วยกันไม่ว่าชุดไหน ช่วยกันสืบสานต่องานของดร.ชาญวิทย์ที่ทิ้งไว้ให้เรา สำหรับในชุดนี้เรามีกรรมการที่เป็นผู้ที่มีความสามารถและเป็นคนรุ่นใหม่กันเยอะ ก็หวังว่าสมาคมจดหมายเหตุไทยจะได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าและยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของนักจดหมายเหตุ พวกเราคณะกรรมการชุดใหม่ทั้ง ๑๙ คน ก็พยายามที่จะจัดกิจกรรมวิชาการความรู้ต่างๆ ให้กับสมาชิกทุกคน และหวังว่าสมาชิกทุกท่านก็คงจะอยู่คู่กับสมาคมจดหมายเหตุไทยและช่วยกันอนุรักษ์ สงวนรักษาข้อมูลจดหมายเหตุเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้งาน ศึกษา ค้นคว้ากันต่อไปค่ะ

 

วิยะดา :        สุดท้ายนี้ขอขอบคุณอาจารย์กรรณิกา ชีวภักดี ที่เข้ามาร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ได้กรุณาให้เกียรติมาสัมภาษณ์โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยครบรอบ ๒๐ ปีค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

 

กรรณิกา :         ด้วยความยินดีค่ะ 


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤฒิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย และอดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับ รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤฒิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและอดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย สวัสดีค่ะ

 

ดร.สมสรวง :      สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           ขอเรียนถามประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย แนวคิดและจุดเริ่มต้น

 

ดร.สมสรวง :      อันนี้จากความทรงจำเป็นหลักนะคะ สมาคมจดหมายเหตุไทยก่อตั้งมาโดยการริเริ่มจำได้ว่า ตอนนั้นมีการประชุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยมีท่าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นองค์ปาฐก หลังจากที่ท่านได้มาบรรยายในเรื่องความสำคัญของงานจดหมายเหตุ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เสนอ ในที่ประชุมว่าเราควรมีสมาคมจดหมายเหตุในการรวมกลุ่มผู้ที่สนใจ หรือคนทำงานเกี่ยวข้องกับงานจดหมายเหตุ มารวมกันก่อตั้งสมาคม ก็เชิญชวนกัน ที่ประชุมสนับสนุนเห็นควรให้มีการตั้งสมาคมจดหมายเหตุขึ้นมา มีการขอเรียกว่าเป็นอาสาสมัครก็ได้ในช่วงแรก มาช่วยกันประชุม เพื่อที่จะรวมกันเป็นกรรมการไปเสนอตั้งสมาคมจดหมายเหตุ ตอนแรกจะเป็นสมาคมจดหมายเหตุแห่งประเทศไทย มีชื่อหลายๆ คน ที่มาร่วมเป็นผู้ก็ตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย รวบรวมเสร็จประมาณปี ๒๕๔๓–๔๔ เมื่อได้ครบตามเกณฑ์ที่จะขอจัดตั้งสมาคมฯ ก็ได้ยื่นขอจัดตั้งเป็นสมาคม ตอนแรกจะใช้ชื่อว่าสมาคมจดหมายเหตุแห่งประเทศไทย ถ้าหากใช้คำว่าแห่งประเทศไทยจะเหมือนเราจะต้องเป็นหน่วยงานราชการ แต่นี่เราไม่ใช่หน่วยงานราชการ เลยปรับแก้ไขชื่อสมาคมฯ เป็นสมาคมจดหมายเหตุไทย ผู้ร่วมก่อตั้งในครั้งนั้นจะมีหลาย มี ท่าน ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ตัวดิฉันเอง เรียนรู้ด้านจดหมายเหตุ, คุณหมอกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ท่านอยู่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวและผลักดันให้มีจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยหัวเฉียว, คุณกรรณิกา ชีวภักดี ซึ่งเป็นผู้ที่เรียนด้านจดหมายเหตุและทำงานบุกเบิกหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของกรมประชาสัมพันธ์, และมีคุณขนิษฐา วงศ์พานิช เคยทำงานมายาวนานที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาเป็นผู้อำนวยการหอศิลป ถนนเจ้าฟ้า, และคุณสุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอีกท่าน ได้มาร่วมเป็นกรรมการด้วย, มีผู้สนใจมาจากภาคเอกชน อย่างเช่นคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมฯ สนใจเก็บรวบรวมหนังสือเก่าจำนวนมาก ดังนั้นสมาคมฯ ในยุคแรกที่เราไปจดทะเบียนมีกลุ่มอยู่กลุ่มหนึ่ง ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ๒๕๔๔ เป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้งสมาคมฯ จุดประสงค์การตั้งสมาคมฯ มีหลายข้อ ดิฉันขอสรุปว่า เราจะเน้นหนักรวมกลุ่มผู้สนใจเพื่อที่จะร่วมกันพัฒนางานจดหมายเหตุให้กับหน่วยงานองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเผยแพร่ความรู้อย่างกว้างขวางให้ประชาชนด้วย เพราะว่าทุกคนมีส่วนร่วม และจะจัดให้ความรู้ จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเราได้เป็นสมาชิกของสมาคมในต่างประเทศด้วย อันนี้ก็เป็นวัตถุประสงค์และเราได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางวิชาการและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ มาตลอดที่เกี่ยวกับงานจดหมายเหตุ

 

วิยะดา :           การประชุมสามัญประจำปีช่วงแรกดำเนินการอย่างไร มุ่งเน้นในเรื่องอะไร

 

ดร.สมสรวง :      ในช่วงแรกๆ ที่จัดประชุมสามัญประจำปีและประชุมทางวิชาการด้วย จัดร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เนื่องจากนายกสมาคมช่วงนั้นคือท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ท่านเป็นเลขานุการ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ ด้วย ดังนั้นทุกครั้งที่จัดประชุมสามัญประจำปีและประชุมทางวิชาการของสมาคมจดหมายเหตุ เราก็ได้จัดร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ การประชุมแต่ละครั้งมีกิจกรรมและหัวข้อหลายหลายทั้งเรื่องเกี่ยวกับจดหมายเหตุและสังคมศาสตร์ และจัดหมุนเวียนทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด เราจัดปีละครั้ง ในการประชุมสามัญประจำปีและประชุมทางวิชาการของสมาคมฯ เกิดการทำกิจกรรม มีการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการจดหมายเหตุออกมา มีแนวคิดที่จะจัดทำสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่าจดหมายข่าว การจัดประชุมสามัญประจำปีร่วมกับการประชุมทางวิชาการส่วนใหญ่จะร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ นอกจากจะจัดในส่วนกลางแล้วยังจัดที่ส่วนภูมิภาค เช่น ไปจัดที่มหาวิทยาลัยพายัพและได้เปิดตัวจดหมายข่าวเป็นครั้งแรกที่นั่น ออกปีละฉบับ ในต่างจังหวัดที่จำได้ ไปจัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และหมุนเวียนไปในแต่ละปี บางปีมาจัดในกรุงเทพฯ

 

วิยะดา :           ในฐานะที่อาจารย์เคยดูแลงานวิชาการของสมาคมจดหมายเหตุไทย หลักสูตรแรกที่จัดอบรมคือหลักสูตรอะไร จัดขึ้นในปีไหน

 

ดร.สมสรวง :      ช่วงแรกดิฉันเป็นประธานฝ่ายวิชาการ ได้พัฒนาหลักสูตรจดหมายเหตุโดยเฉพาะจัดอบรม รับจัดจำนวนจำกัด และได้ร่วมกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติจัดในปี ๒๕๕๐ หลักสูตรการบริหารจดหมายเหตุโดยตรงเลย เราจัด ๓ วัน มีทั้งการบรรยายทางวิชาการ ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารงานจดหมายเหตุ มีการศึกษาดูงานด้วย รับผู้อบรมจำกัดจำนวนเพราะเราอยากให้ได้มีการฝึกปฏิบัติด้วย อันนั้นเป็นครั้งแรกแล้วก็ประสบความสำเร็จดี เป็นการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องวิชาการจดหมายเหตุซึ่งเป็นหลักสูตรไม่ค่อยมีเปิดสอนในประเทศไทย อันนั้นเป็นครั้งแรก, ครั้งที่สองจัดปี ๒๕๕๔ จัดโดยที่นึกถึงพิพิธภัณฑ์ด้วยเพราะจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มักจะไปด้วยกัน ดังนั้นหลักสูตรครั้งที่สอง จะเป็นเรื่องการบริหารงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ สถานที่จัดทั้ง ๒ ครั้ง คือที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีการไปศึกษาดูงานด้วยเป็นการให้ความรู้แต่ยังรับได้จำนวนจำกัด และ กรรมการในรุ่นต่อมาจัดหลายครั้งแต่เปลี่ยนเนื้อหา เปลี่ยนสถานที่ไป ที่จำได้จัดที่กรมประชาสัมพันธ์ เป็น workshop รู้สึกจะจัดหลายครั้ง ต่อมามาจัดที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หัวข้อที่จัดประชุมจะเปลี่ยนไปแต่ว่าครอบคลุมการจัดการเอกสารจดหมายเหตุและสื่อโสตทัศน์จดหมายเหตุเป็นต้น ในบางครั้งมีการเชิญบุคลากรหรือ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยายด้วย นี่เป็นงานวิชาการ ถ้าเป็นช่วงสมัยที่ดิฉันจัดเป็นผู้จัดมีอยู่เพียง ๒ ครั้ง แต่ว่างานวิชาการสมาคมฯ ไม่เคยหยุดยั้ง ยังจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

 

 

วิยะดา :           อาจารย์มองงานจดหมายเหตุในช่วง ๒๐ ปีเป็นอย่างไรคะ

 

ดร.สมสรวง :      งานจดหมายเหตุจากที่ดิฉันเองเรียนรู้การบริหารงานจดหมายเหตุแบบดั้งเดิม คือเน้นตัวเอกสารที่เป็นกระดาษเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันงานจดหมายเหตุได้พัฒนาออกมาหลากหลาย อาจจะไม่ใช่ชื่อจดหมายเหตุด้วย อาจจะการจัดการความรู้ การจัดการจดหมายเหตุระดับชุมชนก็มี ตอนนี้มีการพัฒนา มีผู้ที่เรียน มีความรู้โดยตรงในเรื่องนี้มาถ่ายทอดความรู้เพิ่มขึ้น หลายหน่วยงานจริงๆ เรื่องงานจดหมายเหตุนี่ขยาย แต่ว่าอาจจะไม่เรียกชื่อว่าจดหมายเหตุ ขยายมาอย่างเช่นเป็นการจัดการความรู้ เป็นการจัดการความรู้ชุมชนเป็นต้นในรูปแบบอื่น แต่จริงๆ แล้วลักษณะแบบเดียวกันกับจดหมายเหตุซึ่งอาจจะเปลี่ยนชื่อไป แล้วในปัจจุบันมีการจัดการจดหมายเหตุในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเยอะแยะเลย หลายหน่วยงานได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นดิจิทัลขึ้นมา  หลายหน่วยงานได้มีการรวบรวมและสแกนเอกสารเก่าไว้สร้างเป็นฐานข้อมูล จริงๆ แล้วนั่นคือลักษณะของการบริหารงานจดหมายเหตุ แต่อาจจะไม่ได้เรียกชื่อจดหมายเหตุหรืองานจดหมายเหตุ งานจดหมายเหตุปัจจุบันนี้ไปแฝงอยู่ในหน่วยงานต่างๆ มีหลายคนไปเก็บข้อมูลและทำอะไรทางชุมชนเค้าก็จะ เรียกว่าการจัดการความรู้ชุมชนหรืองานจดหมายเหตุชุมชน เป็นต้น ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างจะเป็นการจัดการบริหารจดหมายเหตุแบบดั้งเดิมไปแล้ว แต่ว่าการจัดการจดหมายเหตุที่มาในรูปแบบใหม่มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นในประเทศไทยเราก็ได้ขยายความรู้ในเรื่องงานจดหมายเหตุ ออกไปสู่หลากหลายรูปแบบ ตอนนี้ควรจะมีการศึกษาวิจัยว่ารูปแบบของงานจดหมายเหตุของประเทศไทยออกมาในรูปแบบใดบ้างก็น่าสนใจ

 

วิยะดา :           สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรจะฝากเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาจดหมายเหตุในประเทศไทย และขอให้อาจารย์อวยพรให้กับสมาคมฯ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีค่ะ

 

ดร.สมสรวง :      สำหรับตัวดิฉันเองในฐานะที่ทำงานทั้งสมาคมฯ และทำงานให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องจดหมายเหตุยังเห็นว่าก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จากงานจดหมายเหตุที่หน่วยงานต่างๆ เกือบจะไม่รู้จัก ก็เห็นว่าหลายหน่วยงานมีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุขึ้นมาเห็นความสำคัญแต่ว่ายังน้อยอยู่ มีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโท อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหลักสูตรซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ๆ ด้วย ไม่ใช่จดหมายเหตุดั้งเดิม กฎหมายต่างๆ มีการปรับปรุงแต่ว่าค่อนข้างล่าช้า และกฎหมายบางทีนำมาปฏิบัติไม่ค่อยได้และบทลงโทษไม่มี กฎหมายที่ออกมา อย่างเช่นระเบียบงานสารบรรณ พรบ.จดหมายเหตุแห่งชาติ ออกมานานแล้วแต่การปฏิบัติยังมีหน่วยงานมีไม่มากนักที่ปฏิบัติตามหรือยังไม่เข้าใจอย่างเพียงพอ การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงยังมีน้อย

ที่น่าเป็นห่วงคือในปัจจุบันเริ่มใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้นจะทำให้เกิดเอกสารที่เรียกว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาหรือเอกสารดิจิทัล ซึ่งถ้าหากไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อการจัดการการจัดเก็บ สิ่งที่มีคุณค่าไว้ไม่นานเอกสารที่มีคุณค่าเหล่านี้จะสูญหายไป อันนี้ที่ดิฉันเป็นห่วง อยากให้แต่ละหน่วยงานตระหนักถึงตรงนี้ด้วย หน่วยงานแต่ละหน่วยงานตอนนี้ต้องคำนึงถึง เอกสารที่เป็นกระดาษ เอกสารที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารที่เป็นดิจิทัล หรือเอกสารที่ born digital ที่เราสร้างขึ้นมา ด้วยระบบ ถ้าหากเราไม่ได้ทำระบบที่จะให้มีการดูแลรักษาและเพื่อการค้นคืนเมื่อต้องการจะเกิดปัญหาอย่างมหาศาลในอนาคต อันนี้ที่ดิฉันเป็นห่วง แต่ก็ยังดีใจที่ตอนนี้หลายสถาบันได้พัฒนาและเปิดสอนหลักสูตรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการเอกสารแบบดั้งเดิมด้วยและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์หรือเอกสารดิจิทัล อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีวิชาใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารดิจิทัลและที่จุฬาลงกรณ์ได้ทำหลักสูตรซึ่งจะเน้นหลายวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการเอกสารดิจิทัล ก็ดีใจคิดว่าในอนาคตหากผู้เรียนและสำเร็จการศึกษามาก็จะได้ตระหนักก่อนที่เอกสารของเราที่มีคุณค่าสำคัญที่อยู่ในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลจะศูนย์หายไปหรือสืบค้นไม่ได้เลย

ส่วนเอกสารกระดาษตอนนี้มีหลากหลายชื่อที่ใช้ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น จดหมายเหตุชุมชนก็ดี คือเก็บตั้งแต่ระดับชุมชนเล็กๆ มาจนถึงระดับองค์กร หรือบางทีก็จะเป็นเรื่องของการจัดการความรู้ซึ่งเป็นสายงานที่บังคับของทุกส่วนราชการด้วยที่จะต้องมีการจัดการความรู้ขององค์กร อันนี้เกี่ยวข้องในเรื่องของการบริหารหรือการจัดการจดหมายเหตุ ดิฉันก็ดีใจในส่วนนี้ แต่เป็นห่วง ถ้าการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ล่าช้าแล้วก็จะถูกลบหรือโปรแกรมเข้ามาใหม่ๆ จะไม่สามารถสืบค้นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์หรือเอกสารดิจิทัลที่ไม่มีโปรแกรมจะไปสืบค้นหรือดึงมันเข้ามาได้ อันนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายหรือการเสียหายอย่างมหาศาล อันนี้เป็นห่วง แต่ก็คิดว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีและเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ได้เร็ว ดิฉันก็ฝากให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะฝากไว้

ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบ ๒๐ ปี แห่งการก่อตั้ง ดิฉันขอให้สมาคมอยู่อย่างยั่งยืนเป็นหลักในการพัฒนา ในการให้กำลังใจกับคนทำงานด้านนี้ เป็นที่พึ่ง และขอให้สมาคมมีความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น อันนี้ก็ฝากไว้

 

วิยะดา :           สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ รศ.ดร สมสรวง พฤฒิกุล เป็นอย่างสูงที่กรุณามาให้สัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในโอกาส ๒๐ ปีสมาคมจดหมายเหตุไทย ขอขอบคุณอย่างสูงค่ะ

 


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์  ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ขณะนี้เราอยู่กับ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์  ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน สวัสดีค่ะ

 

ธงชัย :            สวัสดีครับ

 

วิยะดา :           พี่อ้วน เข้ามามีส่วนร่วมก่อตั้งสมาคมเมื่อไร ปีไหน

 

ธงชัย :            มีการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี ๒๕๔๓ ผมจำได้ว่าอยู่ชั้น ๕ ของตึกที่เป็นร้านหนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นก็มีการระดมความคิดเห็นในการตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น ริเริ่มโดยท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  และมีนักวิชาการอีกหลายส่วน ผมเป็นเอกชนจำนวนน้อย ที่เข้าไปร่วมประชุมด้วย  มติที่ประชุมในวันนั้นเห็นชอบว่าควรมีการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้น เดิมเราคิดว่าจะต้องเป็นแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำไป แต่เมื่อดูข้อกฎหมายและระเบียบของกรมการปกครองแล้วพบว่าออกมากลางๆ ดีกว่า จึงจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้นและก่อตั้งสำเร็จปี ๒๕๔๔ มีสถานที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

วิยะดา :           ใครเป็นคนชักนำให้พี่อ้วนเข้ามาร่วมกับสมาคมฯ

 

ธงชัย :            บังเอิญเหลือเกินก็ว่าได้ ว่าธุรกิจที่ผมทำอยู่คือสำนักพิมพ์ต้นฉบับ เป็นธุรกิจที่พิมพ์หนังสือหายาก ต่ออายุหนังสือหายาก ซึ่งหนังสือหายาก มันกึ่งๆ เป็นเอกสารจดหมายเหตุ บางเล่มเจอเล่มเดียว อยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์ และจดหมายเหตุกลายๆ ได้พบอาจารย์ชาญวิทย์ ในคราวที่ไปเที่ยวทัศนศึกษาที่เวียดนามด้วยกัน อาจารย์ชาญวิทย์ก็สนใจว่ามีภาคเอกชนที่มุ่งมั่นในเรื่องเหล่านี้ก็ชักชวนให้ผมมาร่วมในครั้งกระนั้นปี ๒๕๔๓ เป็นผู้ร่วมก็ตั้งไปด้วยในตัว เป็นภาคเอกชนที่ตกระไดพลอยโจนก็ว่าได้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพื้นความรู้ผมเป็นประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากเราต้องใช้เอกสารจดหมายเหตุ ภาพเก่า อะไรเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกอินเข้าไปเรื่อยๆ และเห็นความสำคัญของวิชาจดหมายเหตุว่าเป็นรากฐานของวิชาต่างๆ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องกลับมาดูที่จดหมายเหตุของตนเอง ของกรม ของมหาวิทยาลัย ของบริษัทห้างร้านก็มี วิชาเหล่านี้มันต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักรักษา  เก็บให้ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานต่อไป

 

วิยะดา :           แนวคิดในการจัดก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยมาจากไหน

 

ธงชัย :            ช่วง ๒๕๔๔ วิชาจดหมายเหตุเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ มีคนรู้หรือคนที่ลงรายละเอียดที่รู้จริงมีน้อย ฉะนั้นด้วยวิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ ว่าถ้าเรามัวอยู่อย่างกระจัดกระจาย คนโน้นทำอย่าง คนนี้ทำอย่าง ไม่ประสานสอดคล้องกัน จะรู้สึกเปล่าเปลี่ยว รู้สึกมีเหลือเราคนเดียวเท่านั้นหรือในสังคมนี้ เลยเอามารวมตัวกัน จะได้คุยกันเป็นที่พบปะสังสรรค์กัน เป็นประโยชน์

 

วิยะดา :           พี่มองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างในช่วงแรก

 

ธงชัย :            เป็นเรื่องปรกติ การริเริ่มอะไรใหม่ๆ ต้องฝันฝ่า ต้องสู้ไม่ถอย อึดเท่านั้น ต้องยกยกย่องท่านอาจารย์ชาญวิทย์ว่าท่านพยายามประคับประครอง และส่งเสริมวิชาจดหมายเหตุให้แพร่หลายสู่องค์กร ทบวง กระทรวง กรม เอกชนต่างๆ ต้องสู้ เผยแพร่วิชาความรู้ให้สาธารณชนทราบมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเมื่อ ๑๐ ปีแรกเราก็ไม่เข็มแข็งอะไร ทุนรอนไม่เยอะ ผมส่วนหนึ่งมีกำลังที่จะไปติดต่อขอทุนมาพัฒนาสมาคมฯ ให้มีกิจกรรมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ  ผมมีส่วนในการขอทุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมา ๓๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินทุนที่จะขับเคลื่อนสมาคมฯ ให้เดินหน้าต่อไป ต่อมายังมีอีกหลายท่านที่ให้ทุน ให้ทุนส่วนตัวด้วยหรือขอทุนจากราชการด้วย ท่านอาจารย์ชาญวิทย์พยายามสร้างกิจกรรมของสมาคมจดหมายเหตุให้มีกิจกรรมการเสวนาประจำปีทุกปี ทั้งนี้แล้วแต่งบประมาณ บางปีงบประมาณเยอะก็ทำเอง บางปีเงินร่อยหลอก็ไปแฝงอยู่กับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ เป็นเหมือนโครงการนำร่อง คือส่งเสริมการพัฒนางานจดหมายเหตุ เปิดคอร์สหลักสูตร ๒ วันและเก็บเงินเพื่อที่จะบำรุงสมาคมก็ได้รับความสนใจจากสมาชิกและบุคคลภายนอกด้วย เข้ามาอบรมได้รับความรู้ สถานที่ครั้งแรกใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ ๒ มาใช้ที่ห้องประชุม สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

วิยะดา :           ช่วงแรกนอกจากหาทุน พี่อ้วนช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้างคะ

 

ธงชัย :            แสวงหานักวิชาการที่จะมาบรรยายและตัวผมเองก็เป็นผู้บรรยายด้วย อย่างที่เรียนให้ทราบพื้นฐานผมเป็นนักประวัติศาสตร์พยายามศึกษาและลงรายละเอียดในวิชาจดหมายเหตุก็ทำได้เท่าที่ทำ

 

วิยะดา :           ช่วงแรกพี่อ้วนดำรงตำแหน่งอะไรในสมาคมบ้างคะ

 

ธงชัย :            ผมก็ช่วยทุกอย่างแต่หลักสำคัญคือช่วยหาทุน ส่วนอื่นแล้วแต่ท่านอาจารย์ชาญวิทย์จะเรียกใช้ก็ว่าไป ในเอกสารก่อตั้งสมาคมฯ ผมอยู่ในตำแหน่ง ๒ ตำแหน่ง คือประชาสัมพันธ์กับเหรัญญิก

 

วิยะดา :           ผลงานเด่นในรอบ ๒๐ ปี ในสมัยที่อาจารย์ชาญวิทย์เป็นนายก และพี่เป็นนายก

 

ธงชัย :            อย่างที่เรียนให้ทราบว่า มีการประชุมวิชาการทุกปีไม่มีขาด แล้วแต่ว่าทุนทรัพย์มากน้อยแค่ไหน ถ้าทุนทรัพย์มากก็เป็นเรื่องเป็นราวเชิญนักวิชาการมาบรรยาย  ในขณะนั้น ๑๐ กว่าปีที่แล้วคนจบจดหมายเหตุไม่มี ต้องไหว้วานอาศัยคนที่เชี่ยวชาญปฏิบัติจริงคือข้าราชการจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยเฉพาะคุณนก ขนิษฐา วงศ์พานิช มีส่วนช่วยเหลือเยอะทีเดียว รวมทั้งบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ เช่น อาจารย์เอนก นาวิกมูล, อาจารย์ภูธร ภูมะธน แต่สิ่งที่น่าจะเป็นผลงานที่โดยเด่นของอาจารย์ชาญวิทย์หรือยุคอาจารย์ชาญวิทย์เป็นนายกคือการผลักดันให้มีการเรียนการสอนวิชาจดหมายเหตุระดับปริญญาโท ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างต่อเนื่อง

 

 

วิยะดา :           พี่อ้วนมองงานจดหมายเหตุในประเทศไทยอย่างไรบ้างคะ

 

ธงชัย :            ต้องเรียนว่าวิชาจดหมายเหตุเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย คนที่จบโดยตรงโดยเฉพาะที่จะมาสอนวิชานี้ก็มีจำนวนไม่มากแต่ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับปีที่ผ่านมามีระดับปริญญาเอกจบออกมา ๕ ท่าน เพราะฉะนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าวิชาจดหมายเหตุจะเจริญก้าวหน้า พอเอ่ยคำว่าจดหมายเหตุในองค์กร ในส่วนราชการ ในระดับบริษัทห้างร้าน เขาจะทำหน้างง อย่างที่บอกมันเป็นวิชาค่อนข้างใหม่ ทุกองค์กร ทุกส่วนราชการเห็นความสำคัญ กระตือรือร้นที่จะพัฒนางานจดหมายเหตุในกรมของตัวเอง อย่างล่าสุดที่ผมได้ให้คำปรึกษาคือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็กระตือรือร้นมากที่จะจัดทำเอกสารจดหมายเหตุส่วนตัวของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเขามีต้นทุนอยู่แล้วคือ มีเอกสารของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อดีตอธิบดีท่านแรกๆ ที่เริ่มงานวิทยาศาสตร์บริการ ผมคิดว่าในอนาคตไม่ไกลจะมีความตื่นรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะให้ส่วนราชการ กรมหรือสถาบันการศึกษาที่จะเข้ามาเล่น เข้ามามาพัฒนาองค์ความรู้วิชาจดหมายเหตุ รวมทั้งห้างร้าน องค์กรเอกชนที่จะเก็บเอกสารจดหมายเหตุของตัวเอง

 

วิยะดา :           ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยดำเนินงานมาครบรอบ ๒ ทศวรรษ มีข้อคิดอะไรจะฝากไว้ไหมคะ

 

ธงชัย :            ต้องเรียนว่าวิชาจดหมายเหตุในประเทศไทยเป็นวิชาที่เริ่มต้นยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกเยอะ และอย่าคิดว่าการที่จะลุกขึ้นมาทำเอกสารจดหมายเหตุเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐมนตรี เป็นเรื่องของอธิบดี  จริงๆ แล้วการทำจดหมายเหตุเป็นเรื่องของทุกคน ไล่มาตั้งแต่กระทรวง กรมต่างๆ ฝ่ายต่างๆ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงไปถึงครอบครัว ครอบครัวใครครอบครัวเขา ก็มีจดหมายเหตุเป็นของตัวเอง ลายมือพ่อแม่ รูปถ่ายเก่าของบรรพบุรุษ เอกสารสั่งราชการของอธิบดี วันที่กรมเริ่มก่อตั้งมีกิจการอะไร อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องของชาติเลย และผมคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำจดหมายเหตุขององค์กร ของครอบครัว ของจังหวัด เราไม่ต้องการใช้พื้นที่เป็นตึกทั้งตึก สำหรับองค์กรใหญ่ๆ เพียงแค่ห้องเล็กๆ ๕ เมตร คูณ ๕ เมตร ผมว่าเพียงพอที่จะเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่ายเก่า หรือว่าถ้าเป็นครอบครัว ตู้ใบเดียวก็สามารถเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุและอัลบั้มรูปเก่าของครอบครัว ไม่เยอะไม่สิ้นเปลืองพื้นที่ ผมหวังว่ารากฐานของความเป็นวิชาจดหมายเหตุจะพัฒนาและส่งมอบความรู้ มรดกและภูมิปัญญา ซึ่งเกิดจากวิชาจดหมายเหตุให้แก่ลูกหลาน ให้แก่ประเทศชาติ เพื่อที่องค์ความรู้เราจะได้ไม่ขาดหายไป

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ต้องขอบพระคุณพี่อ้วน นายกสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นอย่างสูงที่ได้ให้เกียรติมาสัมภาษณ์โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่า โอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยครบรอบ ๒๐ ปี

 

ธงชัย :            ครับ สวัสดีครับ


from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย และนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย คนแรก, อดีตประธานโครงการหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :           ในวันนี้เราได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งสมาคมหอจดหมายเหตุไทย สวัสดีคะท่านอาจารย์

 

ศ.ชาญวิทย์ :      สวัสดีครับ

 

วิยะดา :           ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์ที่ให้เกียรติกับสมาคมฯ วันนี้อยากจะขอสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของสมาคมฯ  อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมฯ ตั้งแต่ปีไหนถึงปีไหน

 

ศ.ชาญวิทย์ :      โดยส่วนตัวสนใจเรื่องของจดหมายเหตุ เนื่องจากตัวเองเรียนปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์ ก็เลยต้องอาศัยหลักฐานทางจดหมายเหตุในการทำงาน  ช่วงสักประมาณที่กำลังเรียนเกือบจะจบและเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ ช่วงปี ๒๕๑๖ เราก็พบว่ามีนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท ใช้เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติกันเยอะ แล้วมันก็มีวิทยานิพนธ์ปริญญาโทหลายฉบับเลยที่ออกมามีคุณภาพมาก ผมเคยตรวจวิทยานิพนธ์อยู่หลายเล่ม แล้วก็วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของบ้านเราหลายฉบับเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนยุคนั้นก็ไม่หนีทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ผมเคยคอมเม้นต์ว่า นี่มันวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกแล้วกระมัง ค้นกันขนาดนี้ ทำไมให้แค่ปริญญาโทเท่านั้น ทำนองนี้ คือเรื่องของเรื่อง เอกสารที่เรียกว่าเอกสารชั้นต้น มันสำคัญมากๆ ในการทำงานวิชาการอย่างจริงจัง นี่เป็นการจุดความความสนใจขึ้นมานะครับ  แล้วก็บังเอิญรู้จักคนหลายคนที่อยู่ในวงการที่เกี่ยวกับจดหมายเหตุ คนหนึ่งซึ่งอาจจะต้องเอ่ยนามเป็นพิเศษก็คือ คุณขนิษฐา วงศ์พานิช ซึ่งได้มาทำงานร่วมกันโดยบังเอิญ

ภูมิหลังของมันอาจจะมาจากการที่ธรรมศาสตร์เริ่มคิดเรื่องการมีหอจดหมายเหตุของธรรมศาสตร์โดยเฉพาะ ธรรมศาสตร์อย่างที่หลายท่านก็ทราบ เมื่อก่อตั้งขึ้นมาแล้วก็เก็บเอกสารแล้วคนที่มาเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคแรกๆ ผมว่าเอ่ยชื่อไปใครๆ ก็ต้องรู้จัก ท่านปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป พิบูลสงคราม สมัยผมเรียน จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ด้วย ดังนั้นเอกสารที่มีอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มันไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเกี่ยวโยงกับระดับชาติ ถ้าเราไปดูนี่จะตื่นเต้นตกใจกันมากเลย อะไรต่อมิอะไรที่อยู่ในฝ่ายสารบรรณ ของมหาวิทยาลัยที่ตึกโดม เราจึงเกิดความคิดว่าเรารวบรวมเอกสารของธรรมศาสตร์ ทุกท่านทราบดีใช่ไหมครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับ ตุลาคม ๒๕๑๖ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตุลาคม ๒๕๑๙ ดังนั้นเอกสารเหล่านี้มันจึงมีอยู่ที่นี่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลยจัดตั้งหอจดหมายเหตุขึ้นมา แต่เจ้าหน้าที่ของสำนักหอสมุดถูกดึงมาทำงานจดหมายเหตุ ทั้งๆ ที่มันเป็นงานคนละลักษณะก็จริงนะ แต่เราต้องเริ่มต้นที่หอสมุด

แต่จดหมายเหตุ เรื่องเลยดำเนินมาเรื่อยเก็บไอ้โน่นเก็บไอ้นี่ ตอนนี้ที่เราไปสัมผัสกับหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยต่างๆ เยอะแยะเลย เราไปดูงานที่มหาวิทยาลัยพายัพ  เราไปดูงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราไปตามสาขาของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  เราไปอุบลฯ อะไรทำนองนี้ ผมก็เลยเกิดความคิดว่าหน่วยงานที่มันกระจัดกระจาย ดูเหมือนต่างคนต่างอยู่นะ  ไม่มีแกนกลางที่จะดึงมาร่วมงานกัน เลยเกิดความคิดเกี่ยวกับเรื่องสมาคม คือสมาคมนี่ก็เหมือนกับว่า เรามาจากราชการก็จริงแต่เราเล่นบทบาทเหมือนกับเป็นองค์กรเอกชน แต่ดึงทุกๆ ฝ่ายเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกัน เลยเกิดการทำงานร่วม ผมว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งผมคิดว่ามันทำให้ในระยะที่ผมทำงานอยู่ในตอนแรก เราก็เอาสมาคมอิงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติด้วย อิงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย อิงกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ ดร.ป๋วย อึ้งภากรเป็นผู้ก่อตั้ง เราก็เอาหลายๆ หน่วยงานมาเจอกัน ผมว่าหลายหน่วยงานมาก แม้กระทั่งกรมศิลปากรก็ดี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็ดี อะไรทำนองนี้ หลายคนที่เป็นผู้นำในระดับต่างๆ เหล่านั้นก็ถูกดึงมารวมกัน ต้องบอกว่ามันเป็นเหมือนอย่างเราอยากทำจับฉ่าย เอาหลายๆ อย่างมารวมกัน มันออกมาอร่อยดีๆ ผมรู้สึกเป็นการทำงานที่เราประทับใจ

เราดึงคนมาเยอะแยะจากหลากหลายมาก อย่าง คุณธงชัย ใช่ไหมครับ ผมก็ไม่รู้จักมาก่อน พอคุณธงชัยเข้ามา คุณธงชัย มีความพิเศษตรงที่ว่ามีหนังสือเก่าเยอะ แน่นอนหนังสือเก่ามันคือ rare book นะ เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด หอสมุด แต่บางอย่าง เผลอๆ มันก็กระเดียดมาเป็นเรื่องของหอจดหมายเหตุก็ได้ มันบังเอิญมีอยู่เล่มเดียว อะไรทำนองนี้นะ นักจดหมายเหตุอย่างคุณขนิษฐา วงศ์พานิช บอกว่า โดยมากสิ่งที่เป็นจดหมายเหตุเผลอๆ มันมีชิ้นเดียว อันนี้ต้องเก็บ ผมก็ว่าเออจริงแฮะ ผมก็เห็นด้วย อย่างตัวเองชอบเรื่องเกี่ยวกับเก็บเอกสาร อย่างส่วนตัว จดหมายของอาจารย์ป๋วย ผมก็เก็บไว้ จดหมายของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง เคยเป็นประธาน ท่านเป็นบก.สตรีสารท่านเขียนจดหมายถึงผม ผมก็เก็บเอาไว้ อะไรแบบนี้  เราบอกว่าอันนี้ถ้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติต้องการ เราก็ยกให้ ผมก็ยกส่วนหนึ่งบางส่วนไปหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อย่างท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นบุคคลที่สำคัญมาก ท่านก็ยกหลายส่วนที่ท่านเก็บเอาไว้ ผมจำได้ท่านเก็บเรื่องเกี่ยวกับสนามบินหนองงูเห่า ยุคนู้นเลยนะไม่ใช่ยุคหลังยุคนู้นเลย อาจารย์เสน่ห์เก็บไว้เยอะเลย และผมดูแลอยู่ ในที่สุดผมก็ยกไปไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  คือผมคิดว่ามันอยู่ที่ว่าเรารักกระดาษเก่าๆ หรือเปล่า เราอยากให้กระดาษเก่าๆ มันอยู่ต่อหรือเปล่า ตรงนี้ผมคิดว่ามันสำคัญมาก ผมจึงมองว่างานจดหมายเหตุมันลุ่มลึก และมีเสน่ห์แบบแปลกๆ มันมีกลิ่นพิลึกๆ นะครับ บางคนอาจจะทนไม่ได้เลยก็ได้แต่บางทีเราได้กลิ่นอันนี้ เออใช่แล้วละ อันนี้ของสำคัญอะไรทำนองนี้นะครับ

 

วิยะดา :           ตอนที่อาจารย์สนใจมาทำงานนี้ ทำไมอาจารย์สนใจงานนี้และอาจารย์ดำรงตำแหน่งอะไรคะ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      ผมเป็นนายก ผมเป็นนายกตั้งแต่ปี ๒๕๔๔-๒๕๕๗ ต้องบอกว่าสนุกนะ ผมไม่ชอบอยู่กับที่ ผมชอบไปหาเอกสารไกลๆ บางทีบอกว่าปีนี้ประชุมสมาคมจดหมายเหตุไทย เราไปประชุมเชียงรายกันไหม พอดีทางฝ่ายมหาวิทยาลัยที่ราชภัฏเชียงราย จะจัดสัมมนาเรื่องลุ่มแม่น้ำโขง ทางผมจากธรรมศาสตร์ จากมูลนิธิโครงการตำราฯ ไปร่วม งั้นเราก็บอกว่าจดหมายเหตุเราก็ไปร่วมด้วยก็ได้  เราทำให้คนไม่อยู่กับเฉพาะที่ทำงานของตัวเอง ผมว่าอันนี้มันเป็นส่วนที่เรามักจะเรียกว่าสัญจร ไปดูที่โน่นที่นี่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เราก็ไปดูว่าเค้ามีอะไร เก็บอะไร เสนออะไร อะไรแบบนี้ ของอัยการด้วยใช่ไหมที่เราเข้าไปดูกัน คือผมว่าของพวกนี้ถ้ามันสามารถจะทำให้สาธารณชน คนทั่วๆ ไปให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ ผมว่าอันนั้นมันจะเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญของประเทศชาติ แน่นอนเราจะไปแบบหอสมุดน่ะคงจะไม่ได้นะ อันนั้นบริการคนทั่วไปเลย เรียกว่าสาธารณะจริงๆ แต่ผมว่าอย่างกรณีของจดหมายเหตุอาจจะบริการคนซึ่งต้องการความลุ่มลึก ต้องการอะไรซึ่งละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพราะฉะนั้นในตอนหลัง นักวิชาการก็ดี อาจารย์ก็ดี  ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ก็ดี เขาจึงไปพึ่งหอจดหมายเหตุสำคัญๆ ในต่างประเทศ  อย่าง Library of Congress หรือหอจดหมายเหตุของอเมริกา ของฝรั่งเศส ของอังกฤษ  อันนี้ยิ่งเปิดโลกกว้างใหญ่เลย เพราะฉะนั้นในแง่นี้มันแปลว่า  ถ้าเราสามารถจะผลักดันให้กิจการจดหมายเหตุของเรามีความเป็นสากลมากขึ้นๆ มันจะช่วยเกี่ยวกับเรื่องสติปัญญาของสังคมผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะครับ

คนสำคัญคนหนึ่งนะ ซึ่งทำความตื่นเต้นให้วงการหอจดหมายเหตุ คือคุณธวัชชัย เจ้าพ่อแผนที่ แก เป็นคนซึ่งมีเงินเท่าไหร่ก็ไปซื้อแผนที่หมด แล้วไปซื้อแผนที่ซึ่งหลงเหลือไม่กี่แผ่นในโลกนี้ ผมเรียกแกว่า Mr.Map Man เจ้าพ่อแผนที่ มาแต่ละแผ่นโอ้โหเราไม่อยากถามราคา  แต่ว่ามันทำให้เกิดความตื่นเต้นมากๆ ว่าแผนที่อย่างนี้ก็มีหรือ มันพิมพ์ตั้งแต่ ๕๐๐ ปีที่แล้วอะไรทำนองนี้ แล้วเราเห็นรูปสยามอยู่ในแผนที่ สยามอยู่ตรงไหนในโลก อันนี้กึ่งงานหอสมุดกึ่งงานจดหมายเหตุ ผมว่าคุณธวัชชัย แกอายุยังน้อย คนมองว่าแกเป็นเด็กๆ แต่ว่าเป็นเด็กที่มีอะไรอยู่ในตัวเยอะ เราดึงแกมาอยู่กับเรา เวลาแกเอาแผนที่ ที่พิมพ์ในหนังสือหลายเล่มเลยซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสยามประเทศ ตั้งแต่ เดอ ลาลูแบร์ แผนที่สยามนี่นะครับสนุกมากเลยที่แกเอามา  ประเทศไทยผอม เพราะว่าฝรั่งยังไม่ได้ไปสำรวจแม่น้ำโขง ดังนั้นฝรั่งก็คิดว่าแม่น้ำไหลตรงๆ ลงมา แม่น้ำโขง ไม่ได้ไหลอ้อมอย่างนี้   ดังนั้นประเทศไทยจึงผอมอะไรอย่างนี้ อันนี้เก๋มากนะครับ หรือแม้กระทั่งฝรั่งไปจุดๆๆ ว่า อาณาเขตของสยาม สูงสุดอยู่ที่ไหน ในสมัยพระนารายณ์น่ะ  อยู่ที่เมืองตาก อยู่ที่ระแหง จังหวัดตาก นอกนั้นขึ้นไปฝรั่งเขียนบอกนั่นเป็นลาว ล้านนา อะไรทำนองนี้มันทำให้เกิดความตื่นเต้น ตื่นเต้นมาก ๆ รวมทั้งแผนที่ อันที่แกได้มาและเราเอามาพิมพ์ซ้ำ (reproduce) ใครๆ ก็อยากได้ ใครๆ ก็แย่งกัน คือแผนที่ของทูตฝรั่งเศส ชุดเชอวาลิแยร์ เดอ โชมองต์ ที่วาดว่าสยามหน้าตาเป็นอย่างไร ที่เขาเดินทางมามีจุดปะๆ เข้าช่องแคบมะละกา แล้วอ้อมสิงคโปร์ ขึ้นมาสยาม แต่ขึ้นมาอยุธยา ตรงนี้ ผมว่าตอนนี้แพร่หลายมากๆ ตรงนี้สมาคมเราเป็นคนพิมพ์เพื่อให้คนเห็นว่าเอกสารแบบนี้เรามองข้ามไม่ได้เลย

 

วิยะดา :           การดำเนินการในช่วงแรกของสมาคมฯ ใช้สถานที่ไหน เรามีปัญหาอุปสรรคอะไรคะ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      ส่วนใหญ่เวลาเราจะทำอะไรก็เงินนะ ปัญหาอุปสรรคก็คือเงิน แต่เนื่องจากเราไม่ได้เกิดมาแบบโดดเดี่ยว  เราอิงกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เราอิงกับธรรมศาสตร์ เราอิงกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เราอิงกับคนโน้นคนนี้ เราก็ใช้ทรัพยากร ถ้าเผื่อท่านผู้นี้จะต้องไปสัมมนาก็ไปเบิกกับโน้นก็แล้วกัน ไปขอเงินจากตรงนี้มาบ้าง  มันก็เล่นไปได้นะ ผมว่า พูดกันตามตรงในสังคมไทย ถ้าเรารู้จักคนมากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงๆ หรือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เงินมันก็ไหลมาได้พอสมควร มันก็ทำงานได้

 

 

วิยะดา :           อาจารย์มองสมาคมจดหมายเหตุไทยในช่วงแรกอย่างไรบ้างคะ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      มันไม่ใช้งานแบบที่เราทำงานนี้อันเดียว เราเอามาประกอบกับอันที่เราทำอยู่แล้วเป็นหลัก  ถ้าจะทำแบบโดดๆ ก็ได้ แต่นั่นแปลว่าคุณเกษียณแล้วหรือคุณไม่ทำงานแล้วซ้ำยังมีเวลา มีสตางค์อะไรทำนองนี้

 

วิยะดา :           อาจารย์มีความคาดหวังอะไรบ้างคะ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      คาดหวังว่ามันจะอยู่ของมันไป มันจะอยู่ไป มันจะดีขึ้นหรืออาจจะ slow down มันก็แล้วแต่นะ แล้วแต่ มันมีขึ้นมีลง มีขึ้นอะไรทำนองนี้ คิดถึงคนที่ผมเคารพมากๆ อย่าง อาจารย์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านก่อตั้งอะไรไว้เยอะเลย บางอย่างมันก็ไปของมันได้ดี บางอย่างมันก็ลง บางอย่างมันก็ขึ้น บางทีมันขึ้นแล้วมันลงอะไรอย่างนี้  ขอให้มีก่อนก็แล้วกัน รุ่นต่อๆ มาเขาหาหนทางไปได้เองละครับ

 

วิยะดา :           ในช่วงแรกๆ เรามีกิจกรรมอะไรบ้างนอกจากประชุม

 

ศ.ชาญวิทย์ :      เราจะต้องมีประชุมประจำปีใช่ไหม  เราก็ถือโอกาส สัมมนาประจำปีไปด้วย  เราเอาหลายๆ อย่าง มาอยู่ด้วยกัน ทำงานนี่นะมันจะได้เนื้อได้หนังมันจะต้องสนุก ในทัศนะส่วนตัวของผมนี่นะ สนุกคือการที่ได้เปลี่ยนที่ อยู่ที่เดิมน่าเบื่อที่สุดในโลกเลย อย่างผมนั่งอยู่ธรรมศาสตร์ เดี๋ยวผมก็หนีไปละ พานักศึกษาไปพิมายดีกว่า อาทิตย์หน้าไปฟาร์มจิมทอมสันดีกว่า อะไรทำนองนี้  ถ้าสมาคมฯ ก็ปีละหลายครั้ง ถ้าทำหลายๆ ครั้งมันก็เหนื่อย  แต่ต้องทำให้มันโดดเด่นขึ้นมาเลย

 

                   (ในวันสัมภาษณ์ นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นายกสมาคมจดหมายเหตุไทย มาต้อนรับ ท่านอาจารย์ชาญวิทย์ และฟังการสัมภาษณ์ พอมาถึงช่วงนี้ นายธงชัย กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิชาจดหมายเหตุ หลังจากนั้น ศ.ชาญวิทย์ จึงแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของเอกสารจดหมายเหตุ)

 

ธงชัย :            ผมขอเรียนเพิ่มเติม ในครั้งกระนั้น เกือบ ๒๐ ปีที่แล้ววิชาจดหมายเหตุค่อนข้างใหม่ ไม่ค่อยได้ยินกันเป็นเรื่องที่แปลก หู ผมถึงเข้ามาเพราะมันเป็นรากของทุกวิชาจริงๆ นะ คุณจะศึกษาเรื่องอะไร ก็ต้องจากเอกสารจดหมายก่อน ไม่ว่าเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง สังคมวิทยา มานุษยวิทยา  ถ้าเราไม่เริ่มเก็บแล้วใครจะเก็บ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      มันเป็นตัว supporter จดหมายเหตุนี้ สิ่งทีมัน support สำคัญเลยคือ มัน support ประวัติศาสตร์ แล้วประวัติศาสตร์มันเป็นแม่ของหลายวิชา  อย่างเมื่อไม่นานมานี้ผมได้ได้หนังสือจากหมอวิชัย  หมอวิชัย เอากาลานุกรมการแพทย์ มาให้ผมเล่มหนึ่ง มันก็ต้องค้นจากจดหมายเหตุ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับการเมืองระดับสูง  ผมไปประชุมเขาพูดถึงเรื่องราชวงศ์เหวียนของเวียดนาม แล้วมีจักรพรรดิองค์หนึ่งซึ่งรบกับสยาม สมัยบดินทร์เดชา จักรพรรดิองค์นั้นชื่อจักรพรรดิมินห์มาง เป็นรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ อะไรของเขานี่แหละ จักรพรรดิองค์นี้ตอนหลังท่านกลายเป็นชื่อเหล้าของเวียดนามดังมาก ถ้าคุณสั่งเหล้ามินห์มางแสดงว่าคุณคึกคักมาก เข้มแข็ง มีกำลัง ปรากฏว่ากลุ่มที่มาสัมมนากันบอกว่า  มินห์มางนี่เป็นจักรพรรรดิที่มีโอรสมากที่สุดในราชวงศ์เหวียนของเวียดนามนะครับ  เพราะอะไร เพราะมันมีวัคซีน วัคซีนมันเกิดในสมัยท่านเลย เพราะฉะนั้นแปลว่าคนที่จะได้ยารักษาโรค วัคซีนนี่ ใครจะได้ก่อนล่ะ ก็ต้องคนระดับข้างบนใช่ไหม แปลว่าโอรสและธิดาที่เกิดมาในสมัยของมินห์มาง มีชีวิตรอดอยู่ได้ยาวมาก ทันที่ที่ผมได้ยินอันนี้ ศึกษาจากงานของหมอวิชัย ศึกษาจากสัมมนานี่ อ้อ ทีนี้เราเข้าใจแล้ว ทำไมสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านจึงมีโอรสธิดามากที่สุด เพราะว่าทารกเกิดมาอยู่รอดมีวัคซีน ท่านมีโอรสและธิดา ประมาณ ๘๐ กว่า รัชกาลพระจอมเกล้าฯ  คุณเทียบกลับไปสิ เทียบกลับไป  ๓ -๒-๑ พระเจ้าตาก โอรสธิดาจะอยู่ไม่รอด คนสมัยก่อนที่จะอยู่ได้รอดมาได้หลังจากการคลอด เพราะฉะนั้นถึงมีเรื่องคลอดลูกตาย ตายทั้งกลม นางนาค อะไรแบบนี้ในเรื่องผี ในเรื่องของนิทานพื้นบ้าน (folktale) อะไรทำนองนี้ ผมว่าจดหมายเหตุมันเป็นฐาน ถ้าเราตีความจากมันได้ เราจะเห็นอะไรๆได้ชัดเจนมาก

 

วิยะดา :           ทำไมอาจารย์จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นจดหมายเหตุสยาม

 

ศ.ชาญวิทย์ :      ผมว่าสยามดีกว่าชื่อไทยเลยเปลี่ยน ตอนนี้ผมมานั่งคิดใหม่ มานั่งคิดใหม่นะ ผมคิดว่า การเปลี่ยนชื่อสยามมาเป็นไทยในปี ๒๔๘๒ ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชนะขาดไปละ เปลี่ยนไม่ได้ละ คุณสุลักษณ์ รณรงค์มาก็หมดแรง แล้วแกบอกว่าแกมีผู้สืบมรดกละ อาจารย์ชาญวิทย์สืบมรดกแก รณรงค์เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นสยาม ผมก็รณรงค์อยู่ตั้งนาน พอมาถึงตรงนี้ๆ นะ อันนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองปัจจุบันเลย สองทศวรรษนี้มีคนใช้คำว่าไทยกับสยาม  พรรคการเมืองเต็มไปด้วยพรรคที่ชื่อว่าไทยไอ้โน่นไทยไอ้นี่ไทยไอ้นั่น และกลุ่มที่ต่อต้านพรรคการเมืองที่มีชื่อไทยไอ้โน่นไทยไอ้นี่ไทยไอ้นั่นเป็นสยาม  ลองสังเกตดูสิ ถ้าเราดึงขึ้นมาๆ เผลอๆ คำว่าไทยมันแปลว่า modern แปลว่าสมัยใหม่ สยามมันแปลว่า ancient แปลว่าสมัยเก่า มนุษย์ส่วนใหญ่มันเลือกสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมก็เลยหมดแรง เอ้าไทยก็ไทยเถอะ ถ้าตีความอีกอย่างหนึ่งนะ ผมไปเช็คดูนะ คุณธงชัยรู้ดี หนังสือ The Tai Race ของหมอดอดด์ (Dr.William Clifton Dodd) เล่มเบ้อเร่อเลย แกเขียน ไต (Tai) แกไม่ได้เขียน ไทย (Thai) The Tai Race ถูกแปลบางบท จุฬาฯ พิมพ์เป็นครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ป๊อปปูล่าเป็นบ้าเลย คนพิมพ์ไปแจกงานกฐิน คนพิมพ์ไปแจกงานวันเกิด งานฌาปนกิจศพ พิมพ์เยอะมาก ผมไปกดดูในกูเกิลเยอะมากนะ ตอนช่วง ๒๔๘๐ คนพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน รวมทั้งก๋งผมด้วย ชอบคำว่าไทย เพราะไทย ที่มี ย.ยักษ์ ใครมาจากไหนก็เป็นไทยที่มี ย.ยักษ์ได้ ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นคุณเป็นแต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ คุณก็เป็นไทย ที่มี ย.ยักษ์ คุณเป็นไทยที่ไม่มี ย.ยักษ์ ไม่ได้นะ คุณเป็น ไต ไม่ได้ คุณเป็นไทยเขินไม่ได้  คุณเป็นไทยพวนไม่ได้แต่คุณเป็นไทย ย.ยักษ์ได้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยหรือราชอาณาจักรไทยที่มี ย ยักษ์ มันคลุมหมด คำนี้มันเลยอยู่  ผมคิดใหม่ตอนนี้นะ เพราะฉะนั้นสมาคมจดหมายเหตุไทยที่มี ย.ยักษ์ โอเค ไม่เอาละสยาม ผมคิดว่าอย่างนี้นะ ใช่ไหม

อย่างทางยายผม ตาของยายเป็น จปม เจ็กปนมอญ เตี่ยของยายอยู่ฝั่งขะนี้ของคลองด่าน เดิมชื่อบางเหี้ย นึกออกไหม คลองด่านอ่ะ คลองออกแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งขะนี้คนจีนอยู่ มีศาลเจ้า แต้จิ๋ว ฝั่งนี้มีวัดมอญ มีลูกก๋งเต็มเลย คนจีนแรกๆ ไม่มีผู้หญิงมาเลยต้อง แต่งงานข้ามคลอง ยายผมก็เป็นผลผลิตของการข้ามคลองตรงนี้ ผมไปค้นตอนทำหนังสืองานศพให้แม่ ไปค้นว่ากำพืดเรามาจากไหน ไปเห็นแล้วมึนเลย แต่ก็สนุกมากเลย วัดนี้ที่อยู่ปากคลองด้านนี้เป็นวัดมอญ เดี๋ยวนี้เป็นวัดดังมากๆ ปรากฏว่า ในวัดบอกว่าพระเจ้าตากจอดเรือตรงนี้ก่อนเข้ากรุงธนบุรี เราเลยบอกว่าอย่างนี้ใช่เลย ไทย ย.ยักษ์ คนพวกนี้เขาบอกว่าเขาเป็นคนไทยทั้งนั้น ต่อให้คุณเรียกกันว่า ก๋ง เรียกอี๊ ก็ตามเขาบอกว่าเขาเป็นไทย ไทยมันคลุมได้เยอะ เพราะฉะนั้นต้องเป็นสมาคมจดหมายเหตุไทย เราไม่ค่อยได้คิดตรงนี้เท่าไรนะ  เราจะคิดว่า แห่งประเทศไทยด้วย นายทะเบียนเขาไม่ให้เราจด

 

วิยะดา :           อาจารย์มองงานจดหมายเหตุในประเทศไทยเป็นอย่างไรคะ อยากให้อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

 

ศ.ชาญวิทย์ :      มันต้องตอบว่ามันยังไม่ดีอย่างที่เราอยากได้ต้องดีกว่านี้ มันมีจุดเริ่มต้นแล้ว  คือตอนนี้มันก็สะดวกขึ้นนะ รูปอีก รูปถ่าย เมื่อสองสามวันคุณพิมพ์ประไพ วิศาลบุตร ต้องการคนนุ่งกางเกงแพร ปั่งลิ้มน่ะ  ผมเอ้ อันนี้ผมเคยเห็นนี่หว่า พ่อผมนุ่งนี่หว่า พ่อผมนุ่งกางเกงแพร ไปยืนที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ใส่เสื้อราชประแตน ใส่แว่นด้วย ยืนเต๊ะท่า ผมว่านี่ไง ส่งให้คุณพิมพ์ประไพแกดีใจใหญ่เลย แกหารูปคนนุ่งปั่งลิ้ม มันเท่ที่สุด รุ่นผมเอามานุ่งนอน แต่นั่นเขาใส่เพื่อไปออกงานที่หรูๆ โชว์ว่ามันเลื่อม มันแพง

 

วิยะดา :           ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยดำเนินงานมาครบรอบ ๒ ทศวรรษ อยากให้อาจารย์ฝากข้อคิดให้กับสมาคม

 

ศ.ชาญวิทย์ :      มันต้องช่วยกันทำงานนะ ช่วยกันผลักดัน ช่วยกันสะสม ผมก็ไม่รู้นะว่า พอถึงสะสมนี่ก็ยากเหมือนกันนะ เพราะมันต้องมีที่  มีเจ้าหน้าที่ ต้องมีคนทำงานประจำ พวกเราทำงานอาสาสมัคร อย่างในกรณีของผมเองที่เคยทำจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์เขาจะตั้งอัตรา มีเจ้าหน้าที่มีอะไรแต่ว่ามันก็ยังไปไหนไม่ไกลเท่าไร  ตอนนี้ได้ตึกมโหฬารเลย  ตึกร้อยปีอาจารย์ป๋วยน่ะมาจากโครงการจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เราเสนอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยรับไป สร้างหอจดหมายเหตุอย่างเดียวไม่พอหรอกค่ะอาจารย์ ไม่มีใครเขาให้ตังหรอก ต้องร้อยปีอาจารย์ป๋วย เพราะฉะนั้นจดหมายเหตุมันอยู่ในนั้น  เราก็ได้ปีกหนึ่ง ใหญ่โตมโหฬารมาก  อีกปีกหนึ่งเป็นหอสมุดอาจารย์ป๋วย อีกปีกหนึ่งเป็นหอประชุมใหญ่มาก ได้มาตั้ง… นี่อธิการบดีคนปัจจุบันผมว่าอาจารย์เอาเงินมาจากไหน ผมเสนอแทบตายมาตั้งนาน ไม่รู้กี่อธิการบดี อาจารย์เกศินี วิฑูรชาติ บอกกองสลาก แกวิ่งเต้นเก่ง  แกไปหาเงินมาได้ ผมว่าไม่รู้กี่ร้อยล้านนะ อันที่ถ้าเผื่อคุณดูอาจารย์ปริญญาแกเคยโชว์บ่อยๆ ที่มีสวนอยู่ข้างบนอันนี้มาจากจดหมายเหตุ อันนี้เราเสนอจากหอจดหมายเหตุ แค่นี้มันเล็กเกินไปต้องมาใหญ่ๆ เลยร้อยปีอาจารย์ป๋วย  ผมถึงบอกว่าเอ่ยชื่ออาจารย์ป๋วย ผมจะพิมพ์หนังสือ คือว่าผมเขียนจดหมายนี้มาตามมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่ก่อตั้งโดยดร.ป๋วย ขอเงินเท่านี้ครับ มักจะได้

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมหอจดหมายเหตุไทย ต้องกราบขอบคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติแก่สมาคมจดหมายเหตุไทยในการให้สัมภาษณ์โอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ครั้งนี้ค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ


 

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย
องคมนตรี / ผู้จุดประกายการจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย

ยุคนี้เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไม่ว่าเทคโนโลยีที่เข้ามารวมทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผมคิดว่ายิ่งสะท้อนความสำคัญของประวัติศาสตร์ก็ดีหรือว่าจดหมายเหตุ ถ้าพูดแล้วอยากจะเชิญชวนทุกภาคส่วนมาให้ความสนใจเรื่องจดหมายเหตุ…ต้องมีอะไรที่เป็น Historical record เป็นการจดจารทางประวัติศาสตร์จากคนก็ดี จากเหตุการณ์ก็ดีจากอะไรต่อมิอะไรต่างๆ อันนี้ผมคิดว่าสำคัญ

อ่านต่อ


ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ผู้ก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย / นายกสมาคมจดหมายเหตุไทยคนแรก

กรณีของจดหมายเหตุอาจจะบริการคนซึ่งต้องการความลุ่มลึก ต้องการอะไรซึ่งละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพราะฉะนั้นในตอนหลัง นักวิชาการก็ดี อาจารย์ก็ดี ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ก็ดี เขาจึงไปพึ่งหอจดหมายเหตุสำคัญๆ ในต่างประเทศ อย่าง Library of Congress หรือหอจดหมายเหตุของอเมริกา ของฝรั่งเศส ของอังกฤษ อันนี้ยิ่งเปิดโลกกว้างใหญ่เลย เพราะฉะนั้นในแง่นี้มันแปลว่า ถ้าเราสามารถจะผลักดันให้กิจการจดหมายเหตุของเรามีความเป็นสากลมากขึ้นๆ มันจะช่วยเกี่ยวกับเรื่องสติปัญญาของสังคมผมเชื่อว่าอย่างนั้น

อ่านต่อ


ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย / นายกสมาคมจดหมายเหตุไทย

วิชาจดหมายเหตุในประเทศไทยเป็นวิชาที่เริ่มต้นยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกเยอะ และอย่าคิดว่าการที่จะลุกขึ้นมาทำเอกสารจดหมายเหตุเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐมนตรี เป็นเรื่องของอธิบดี  จริงๆ แล้วการทำจดหมายเหตุเป็นเรื่องของทุกคน ไล่มาตั้งแต่กระทรวง กรมต่างๆ  ฝ่ายต่างๆ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงไปถึงครอบครัว ครอบครัวใครครอบครัวเขา ก็มีจดหมายเหตุเป็นของตัวเองลายมือพ่อแม่ รูปถ่ายเก่าของบรรพบุรุษ

อ่านต่อ


รองศาสตราจารย์ ดร.สมสรวง พฤติกุล
ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย / อดีตอุปนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย

ปัจจุบันเริ่มใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้นจะทำให้เกิดเอกสารที่เรียกว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาหรือเอกสารดิจิทัล ซึ่งถ้าหากไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อการจัดการ การจัดเก็บ สิ่งที่มีคุณค่าไว้ไม่นานเอกสารที่มีคุณค่าเหล่านี้จะสูญหายไป อันนี้ที่ดิฉันเป็นห่วง อยากให้แต่ละหน่วยงานตระหนักถึงตรงนี้ด้วย

อ่านต่อ


กรรณิกา ชีวภักดี
ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย /
อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์

นักจดหมายเหตุเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดิจิทัลแล้ว ท่านยังต้องส่งความรู้เหล่านี้ออกสู่ประชาชน อีกหน่อยก็ไม่ได้ทำงานเฉพาะกับนักจดหมายเหตุระดับองค์กรเท่านั้น แต่เป็นภาคประชาชนที่เราจำเป็นจะต้องเผยแพร่การจัดเก็บเพื่อให้สิ่งที่ผลิตเป็นจดหมายเหตุได้อย่างสมบูรณ์ และทำอย่างไรนักจดหมายเหตุถึงจะแยกกากเอาแก่นออกมาได้เพราะข้อมูลหลากหลายทั่วทิศทั่วทางมาก

อ่านต่อ


สุรีย์รัตน์ วงศ์เสงี่ยม
ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย / อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

อยากให้มีงานต่างๆ ที่จะเผยแพร่เอกสารจดหมายเหตุหรืองานจดหมายเหตุให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อยากให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงคุณค่าของเอกสารจดหมายเหตุ ให้เข้ามาใช้กันมากๆ ได้ศึกษาได้เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเอกสารจดหมายเหตุถือว่าเป็นความรู้ที่จะทำให้ประชาชนหรือนิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้อดีตของตัวเอง จะมีความรักความเข้าใจในบรรพบุรุษของเรา ที่ได้สร้างสรรค์งานที่ออกมาในรูปเอกสาร อยากให้มีความซาบซึ้งและเข้าใจและได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้น

อ่านต่อ


วนิดา จันทนทัศน์
ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย /
อดีตเลขานุการโครงการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมาคมจดหมายเหตุไทยตั้งมา ๒๐ ปี อยากให้สมาคมนี้เป็นองค์กรนี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ช่วยสนับสนุน เป็นตัวอย่างของการจัดทำมาตรฐานจดหมายเหตุ ระบบจัดเก็บเอกสารซึ่งเป็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการบริหารงานไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ถ้าเรามีระบบจัดเก็บเอกสารดีเป็นระบบ ทำให้เราสามารถรู้ที่มาที่ไปขององค์กรที่เราเป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ช่วยในการบริหารงานของหน่วยงานทั้งหลายจะได้มีสิ่งที่อ้างอิงและวางแผนในอนาคตต่อไปได้ด้วย

อ่านต่อ


นัยนา แย้มสาขา
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ / อดีตที่ปรึกษาสมาคมจดหมายเหตุไทย

คาดหวังว่า องค์กรนี้จะเป็นองค์กรเอกชน ที่เป็นที่ชุมนุม เป็นชุมชนของนักวิชาชีพจดหมายเหตุที่เข้มแข็งองค์กรหนึ่ง ที่มุ่งมั่นและประสานความร่วมมือ การนำชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของไทย ให้ก้าวไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความสำคัญในเอกสารจดหมายเหตุ ให้สังคมได้รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและตระหนักในความสำคัญ อันนี้สำคัญมาก

อ่านต่อ


จุฑาทิพย์ อังศุสิงห์
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

นักจดหมายเหตุในแง่ของวิชาการ ถ้าเป็นวิชาการจดหมายเหตุสมัยก่อน สมัยนี้ไม่มีความแตกต่างกัน หลักการของงานจดหมายเหตุยังเป็นหลักการของงานจดหมายเหตุอยู่อย่างนั้น แต่ว่าสมัยก่อนกับสมัยนี้ถ้าต่างกัน เป็นเรื่องของสื่อ เรื่องของบริบททางสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า ๒๐-๓๐ ปี ที่ผ่านมาบริบททางสังคมมันเปลี่ยนไป สื่อโซเชียล  ลักษณะของเอกสารมีความเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถ้ามองอดีตกับปัจจุบันหลักการคงเดิมแต่สิ่งที่เปลี่ยนไป การประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานเชิงรุก หรือแม้แต่การเข้าถึงเอกสารเปลี่ยนไป ตรงนี้ต้องปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น ต้องเข้าถึงให้มากขึ้น ต้องพร้อมในเรื่องของการบริการมากขึ้นกว่าเดิม

อ่านต่อ


นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

งานจดหมายเหตุไทยควรจะเป็นอย่างไรกันแน่  อันนี้ผมก็อยากจะขอฝากไปยังสมาคมฯ เพื่อขบคิด เพราะว่าจริง ๆ แล้วโลกเปลี่ยนมาก … โดยเฉพาะที่เรามีเครื่องมือที่เรียกว่าเป็นโปรแกรมเป็นเรื่องของระบบไอทีเข้ามา หรือที่เขาเรียกว่า records and information management ผมว่ามันก้าวไกลไปมาก tools ที่จะใช้ในเรื่องนี้มันเยอะหมดเลย  เพราะฉะนั้นผมคิดว่า งานจดหมายเหตุของไทยทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของระบบไอที และ information system

อ่านต่อ