Tag Archives: 20ปีสมาคมจดหมายเหตุไทย

from content PHP

ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย

 

ผู้ให้สัมภาษณ์              : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้จุดประกายการจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทย และสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ ตั้งแต่ก่อตั้ง

ผู้สัมภาษณ์                 : นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์             : วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๔


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :            ในวันนี้สมาคมจดหมายเหตุไทยได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ท่านเป็นผู้จุดประกายการจัดตั้งสมาคมจดหมายเหตุไทยและสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ มาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้ง

 

ศ.นพ.เกษม :       สวัสดีครับ

 

วิยะดา :           ท่านอาจารย์หมอคะ เหตุใดท่านจึงสนใจงานจดหมายเหตุ

 

ศ.นพ.เกษม :      จริงๆ ถึงแม้น เรียนหมอ แต่วิชาที่สนใจมากกว่าหมอคือวิชาประวัติศาสตร์ แล้วเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เพราะว่าตอนเด็กๆ ที่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร สิ่งที่พึ่งได้คือห้องสมุดประชาชน เลยใช้ที่นั่นเป็นฐาน อยากรู้อะไรก็ไปที่ห้องสมุดประชาชน ซึ่งผมก็อ่านทุกเล่มในห้องสมุด หลังจากนั้นมาก็ติดใจประวัติศาสตร์ และมาสนใจเรื่องจดหมายเหตุ จดหมายเหตุมันเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของประเทศก็ได้ ขององค์กรก็ได้ ของเมือง ของตระกูลก็ได้ น่าจะสอนเราว่า รากเรามาอย่างไร เรามาจากไหน ทำไมถึงมาที่นี่ได้  เลยสนใจและเรียนรู้จากนักวิชาการหลายๆ มหาวิทยาลัยว่า เราก็มีการเรียนการสอนเรื่องจดหมายเหตุพอสมควรทีเดียว ตั้งแต่นั้นมาก็ว่ากัน แล้วก็อาจารย์ชาญวิทย์ตอนนั้นท่านอยู่ธรรมศาสตร์ท่านก็มีกลุ่มที่สนใจเรื่องนี้ เราก็มาคุยกัน ปรากฏว่าท่านอาจารย์ไฟแรงเลยตั้งเป็นสมาคมจดหมายเหตุไทยขึ้นมา ผมก็ยินดีมากนะครับ นี่ผ่านไป ๒๐ ปีแล้ว สมาคมฯเป็นแรงผลักดันทำให้เรื่องจดหมายเหตุของไทยเราก็เจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาทุกวันนี้

 

วิยะดา :           เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๔ ในวันนั้นมีการจัดกิจกรรมครั้งแรกเพื่อแนะนำสมาคมจดหมายเหตุไทย ซึ่งในวันดังกล่าวท่านได้กรุณากล่าวปาฐกถานำ เรื่อง หอจดหมายเหตุกับสังคมไทย ผ่านไปแล้ว ๒๐ ปี ท่านมองงานจดหมายเหตุกับสังคมไทยอย่างไร

 

ศ.นพ.เกษม :      ๒๐ ปีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมีอยู่เยอะมาก อัตราความเร็วในการเปลี่ยนมากกว่าสมัยก่อนเยอะ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ก็ดี จดหมายเหตุก็ดี ยิ่งมีความสำคัญมากที่เราจะต้องจดจารและสะสางเพื่อให้เป็น…คล้ายเอกสารและความรู้ที่อ้างอิงได้สำหรับคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไปด้วย ที่ผมกราบเรียนว่ายุคนี้เป็นยุคการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไม่ว่าเทคโนโลยีที่เข้ามารวมทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ผมคิดว่ายิ่งสะท้อนความสำคัญของประวัติศาสตร์ก็ดีหรือว่าจดหมายเหตุ ถ้าพูดแล้วอยากจะเชิญชวนทุกภาคส่วนมาให้ความสนใจเรื่องจดหมายเหตุ ผมคิดอยู่อย่างนี้ว่าผมโตมาที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ตอนที่ผมเรียนหนังสือ ผมไม่รู้เรื่องเลยอำเภออื่น จริงๆ แล้วผมไม่รู้เรื่องจังหวัดพิจิตรเพราะตำราเรียนไม่มีและผมจน ผมไม่มีโอกาสเดินทางไปตัวจังหวัด โตแล้วถึงได้ไปจังหวัด หลังจากนั้นก็ตั้งโจทย์ว่าทำไมเด็กจังหวัดพิจิตรไม่เรียนเรื่องพิจิตร ทำไมเด็กอำเภอกุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ ไม่เรียนเรื่องอำเภอในกาฬสินธุ์ แล้วมีเรื่องให้เรียนไหม ปัญหาคือมันไม่มีเรื่องให้เรียน มันมีแต่ความจดจำของคนเฒ่าคนแก่ และคนเฒ่าคนแก่แต่ละรุ่นท่านมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ไม่ธรรมดา แต่ต้องมีอะไรที่เป็น Historical record เป็นการจดจารทางประวัติศาสตร์จากคนก็ดี จากเหตุการณ์ก็ดี จากอะไรต่อมิอะไรต่างๆ อันนี้ผมคิดว่าสำคัญ นักวิชาการทางด้านจดหมายเหตุผมคิดว่าท่านรู้ดี อยากให้ท่านมาช่วยกันหน่อยว่า เราจะสร้างระบบจดหมายเหตุให้มันกระจายไปที่ทั่วประเทศได้ไหม เพื่อจะได้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับคนยุคนี้และยุคต่อไปด้วย เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อน  ผมหมายถึงว่าวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่นี่ไม่เหมือนกับรุ่นของผมอีกแล้ว รุ่นของพวกผมไม่มีดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่มีคอมพิวเตอร์ มีแต่คำสอนของปู่ย่าตายายของพ่อแม่ แต่เด็กเดี๋ยวนี้เค้ามีวิธีคิดของเขา ซึ่งได้ข้อมูล ได้หลักฐานในการคิดจากสื่อออนไลน์สื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเรามีสื่ออีกสักกลุ่มหนึ่งเป็นสื่อประวัติศาสตร์ เป็นสื่อที่ชำระแล้วและอ้างอิงได้ และเป็นฐานอาจจะช่วยให้ลูกหลานเรารู้จักรากฐานของชีวิตเขา ของตระกูลเขา ของเมืองของเขา ของประเทศเขาก็น่าจะดีก็เลยอยากจะเชิญชวน

 

วิยะดา :           ในโอกาสที่สมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในปีนี้ในเดือนเมษายนนี้ อยากให้ท่านกรุณากล่าวข้อคิด คำแนะนำ และคำอวยพรถึงสมาคมจดหมายเหตุไทย หน่วยงานจดหมายเหตุ และนักจดหมายเหตุในประเทศไทย

 

ศ.นพ.เกษม :      ผมคิดว่า ถ้าเราจะพัฒนางานจดหมายเหตุทั่วประเทศ ที่ขาดไม่ได้คือ เสาหลักทางด้านวิชาการ ก็ดีใจที่บางมหาวิทยาลัยมีรายวิชา บางมหาวิทยาลัยทำเป็นหลักสูตรทั้งปริญญาตรีปริญญาโทและปริญญาเอก ผมคิดว่าอยากจะฝากทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ช่วยสนับสนุนเรื่องการพัฒนาหลักสูตร และพัฒนาบัณฑิต พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องจดหมายเหตุไทย ผมว่าเสาหลักทางวิชาการต้องมั่นคง เสาหลักที่สอง คือสมาคมจดหมายเหตุไทย ซึ่งเราจะทำในเรื่องที่นำเอาความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ต่างๆ เอาไปเผยแพร่และดึงเอาสิ่งที่ดีๆ งามๆ ด้านจดหมายเหตุของประเทศไทยออกมาคุยกัน ปีหนึ่งครั้งสองครั้งสามครั้งก็แล้วแต่ และสื่อมวลชนจะนำเอาความรู้จากฝ่ายวิชาการ นำเอาประสบการณ์ของสมาคมจดหมายเหตุ ออกไปเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบอีกหนึ่ง ถ้าทั้งสื่อมวลชนด้วย  สมาคมฯด้วยและนักวิชาการด้วย ร่วมมือกันและให้รัฐให้การสนับสนุนผมเชื่อว่าจะเป็นคุณูปการต่อประเทศมหาศาลเลย

 

เรื่องที่ ๒ อยากจะฝากก็คือว่าคงต้องอาศัยนโยบายของรัฐ รัฐนี่หมายถึงรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นด้วย เทศบาลเอย อบต.เอย อบจ.เอย ท่านอยากมีไหม จดหมายเหตุของเมืองของท่านไหม เทศบาลของท่านไหม จังหวัดของท่านไหม ผมอยากมี ผมอยากให้เด็กที่เกิดมาจากกาฬสินธุ์รู้เรื่องกาฬสินธุ์ เด็กที่เกิดมาที่กุฉินารายณ์รู้เรื่องกุฉินารายณ์ อย่างนี้เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าเราทำทั้งประเทศผมเชื่อแน่ว่า เด็กและเยาวชนของเราจะรู้เรื่องรากฐานของครอบครัว ตระกูล รากฐานของเมือง ของหมู่บ้าน รากฐานของชุมชนและรวมทั้งรากฐานประเทศด้วย อันนี้จะทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสามัคคีที่เราอยากได้มันจะง่ายขึ้น ขอให้มองว่าจดหมายเหตุเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะสร้างความระลึก ความตระหนักถึงรากฐานของชีวิต ชีวิตของบ้านเมือง และอันนี้จะเป็นประโยชน์มากเลย ส่วนในนามของสมาคมฯ เป็นอาสาสมัครมาทั้งนั้น ที่อาสาสมัครเพราะมองว่าประสบการณ์และความรู้ที่ท่านมีจะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองจึงอาสากันมา  ผมก็ขออนุญาตแต่เพียงว่า สิ่งที่ท่านทำเป็นบุญเป็นกุศลแล้ว และขอให้สิ่งที่ท่านทำน้อมต่อสิ่งที่ดีงามกับชีวิตและครอบครัวของทุกท่านครับ

 

วิยะดา :           ในนามของสมาคมหอจดหมายเหตุไทย ต้องกราบขอบคุณ  ศาสตราอาจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่ได้กรุณาให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี สมาคม ขอบพระคุณมากค่ะ

 

ศ.นพ.เกษม :      ยินดีครับ