ประวัติสมาคมจดหมายเหตุไทย ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี โดย นางสาวนัยนา แย้มสาขา

 

ผู้ให้สัมภาษณ์ :          นางสาวนัยนา แย้มสาขา
อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
และที่ปรึกษาสมาคมจดหมายเหตุไทย พ.ศ. ๒๕๕๖ – พ.ศ.๒๕๕๙

ผู้สัมภาษณ์ :                  นางสาววิยะดา สุธีรภัทรานนท์

วันที่สัมภาษณ์ :           วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓


           เนื่องในโอกาสสมาคมจดหมายเหตุไทยจะครบรอบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๔ ทางสมาคมฯ   จึงมีโครงการสัมภาษณ์ผู้ร่วมก่อตั้ง กรรมการ และผู้ให้ความอนุเคราะห์แก่งานของ  สมาคมฯ อย่างดียิ่งตลอดมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่สาธารณชน

 

วิยะดา :     ขณะนี้เราอยู่กับท่านนัยนา แย้มสาขา อดีตผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

นัยนา :            สวัสดีค่ะ

 

วิยะดา :           ขออนุญาตเรียกพี่แมวนะคะ พี่แมวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ปีไหน นานเท่าไรคะ

 

นัยนา :            ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖–๒๕๕๙ ประมาณ ๔ ปี

 

วิยะดา :           ในช่วงนั้น พี่แมวท่านดำรงตำแหน่งอะไรในสมาคมจดหมายเหตุไทยคะ

 

นัยนา :            เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ

 

วิยะดา :        ช่วงเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ บุคลากรในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไร

 

นัยนา :   ถ้าในฐานะบุคคลคนหนึ่งของหอจดหมายเหตุเลยนะ เราก็มองว่าสมาคมหอจดหมายเหตุไทยเป็นที่รวมของกลุ่มนักวิชาการและวิชาชีพจดหมายเหตุที่มีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องจดหมายเหตุ และรักในเอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญทั้งหลาย  และพยายามรักษาและเผยแพร่ทั้งในแง่เอกสารจดหมายเหตุและตัวองค์กรของสมาคมเองด้วยให้คนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

วิยะดา :           พี่มองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างในช่วงแรก

 

นัยนา :            พี่มองคล้ายบุคลากรคนอื่นว่า สมาคมจดหมายเหตุไทยเป็นที่รวมของนักวิชาการ เพราะตอนแรกๆ ที่อาจารย์ชาญวิทย์ตั้ง เหมือนกับในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีวิชาจดหมายเหตุ ท่านก็ให้ความสำคัญ ฉะนั้นท่านก็ร่วมกับนักวิชาการและนักวิชาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  แต่ว่าเป็นนักจดหมายเหตุ มีทั้งนักจดหมายเหตุที่มีชื่อเรียกชื่ออื่นๆ เยอะแยะ เช่น นักเอกสารสนเทศ อะไรพวกนี้ แต่ก่อนไม่เรียกนักจดหมายเหตุ จะเรียกนักจดหมายเหตุเฉพาะในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่เดี๋ยวนี้คำว่านักจดหมายเหตุเป็นคำที่ใช้ได้ทั่วไป แต่ก่อนเรียกนักเอกสารสนเทศ พวกนี้ดูแลเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญของหน่วยงาน พี่เห็นว่าเป็นองค์กรที่ดีและเป็นแหล่งรวมนักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่เค้ารวมด้านวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับจดหมายเหตุเพราะเค้าเข้าใจในเรื่องนี้

 

วิยะดา :          ช่วงที่พี่แมวดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พี่แมวร่วมมือกับสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างคะ

 

นัยนา :            พี่ก็ร่วมมือทุกด้านที่ทางสมาคมจดหมายเหตุไทยขอมา อย่างเช่นเชิญไปเป็นเกียรติก็ไป ยังได้อะไรมาเยอะ คือทางสมาคมฯ ก็หาพวกเอกสารเก่าแผนที่เก่าเป็นที่ระลึก หรือว่าถ้าขอความอนุเคราะห์วิทยากรของหอจดหมายเหตุ หรือว่าขอความร่วมมือพี่ก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมอาจเป็นเรื่องการประชุมสัมมนาจะได้คุยกันเรื่องวิชาชีพของแต่ละองค์ความรู้  รวมทั้งให้ความอนุเคราะห์สถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง

 

วิยะดา :           ปัจจุบันพี่แมวมองสมาคมจดหมายเหตุไทยอย่างไรบ้างคะ

 

นัยนา :          ก็ยังมองเหมือนเดิมอยู่นะว่า เป็นองค์กรที่รวมนักวิชาการและนักวิชาชีพจดหมายเหตุที่วางบทบาทขององค์กรไว้ เพื่อจัดกิจกรรมเสนอวิธีการ ทางเลือกและแนวคิดใหม่ๆ ในกระบวนงานจดหมายเหตุให้เป็นที่รู้จัก ประมาณนั้นค่ะ

 

วิยะดา :           พี่แมวคาดหวังอะไรจากสมาคมจดหมายเหตุไทยบ้างคะ

 

นัยนา :            พี่ก็คาดหวังเหมือนกันว่า องค์กรนี้จะเป็นองค์กรเอกชน ที่เป็นที่ชุมนุม ชุมชนเป็นชุมชนเลยนะ เป็นชุมชนของนักวิชาชีพจดหมายเหตุที่เข็มแข็งองค์กรหนึ่ง ที่มุ่งมั่นและประสานความร่วมมือ การนำชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของไทย ให้ก้าวไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับชุมชนวิชาชีพจดหมายเหตุของนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความสำคัญในเอกสารจดหมายเหตุ ให้สังคมได้รู้จักกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและตระหนักในความสำคัญ อันนี้สำคัญมาก

 

วิยะดา :           อยากให้พี่เปรียบเทียบการทำงานของนักจดหมายเหตุในรุ่นปัจจุบันว่าแตกต่างจากรุ่นเก่าอย่างไร

 

นัยนา :            แตกต่างกันแต่ไม่มาก แต่อย่างไรก็เขายังคงดูแลเรื่องเอกสารจดหมายเหตุ แต่การทำงานของนักจดหมายเหตุรุ่นก่อนต้องฝ่าฟันและแสวงหาวิชาการเพื่อสร้างศักดิ์ศรีของตัวเองให้กับวิชาชีพนี้ และให้สังคมรับรู้และยอมรับว่า นักจดหมายเหตุมีหน้าที่อะไร และเราทำอะไร เพราะว่าแต่ก่อนคนจะไม่รู้จัก ถ้าเราพูดเรื่องนักจดหมายเหตุ หรือจดหมายเหตุ  คำว่าจดหมายเหตุกรุงศรี ซึ่งเป็นส่วนเดียวที่เขาใช้เอกสารของเราไปเป็นข้อมูลสำหรับทำรายการ แต่นักจดหมายเหตุรุ่นใหม่คงยังต้องอย่างนั้น ต้องฝ่าฟันและแสวงหาวิชาการ เพราะว่าวิชาการจดหมายเหตุไม่หยุดนิ่ง เพราะว่าเรามีสมาคมจดหมายเหตุสากลของนานาชาติ เขาจะมีนักจดหมายเหตุที่คิดทั้งในแง่ของวิธีการ ที่เดี๋ยวนี้ไปในโลกของดิจิทัลบ้าง การอนุรักษ์อะไรพวกนี้ เขาจะมีแนวใหม่ๆ ที่มานำเสนอวิธีการเก็บ วิธีการรักษา ซ่อม อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอยากให้ฝ่าฟัน เพราะว่าอย่างไรน้องๆ ยังน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ  เพราะเดี๋ยวนี้คนเริ่มรู้จักจดหมายเหตุพอสมควรแล้วค่ะ แต่ว่ายังรู้จัก ยังไม่ชัดเจนมาก รู้จักในแง่ใช้เฉยๆ หมายถึงใช้เป็นภาพเก่าเป็นอะไรพวกนี้ แต่ยังไม่เข้าถึงว่า เอกสารจดหมายเหตุที่มาควรเป็นอย่างไร เขามีความสามารถหรือมีบทบาทอะไรที่จะช่วยอะไรกับองค์กรหรือเอกสารจดหมายเหตุสำคัญของชาติได้บ้าง

 

วิยะดา :           พี่แมวมีคำแนะนำอะไรจะฝากไปถึงนักจดหมายเหตุรุ่นใหม่ไหมคะ

 

นัยนา :            ต้องฝากน้องๆ ว่าต้องปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์นะคะ ต่อวิชาชีพ และมุ่งมั่น อดทน สู้ๆ กับอุปสรรคทั้งหลาย เพราะว่าอย่างไรก็อีกยาวนาน ในเรื่องของวิชาชีพที่เป็นเกี่ยวกับภูมิปัญญาอะไรพวกนี้ คนจะยังไม่เข้าใจ ถ้าอ้างอิงก็พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ท่านพูดว่า ขาดทุนคือกำไร อันนี้เรากำลังทำคือลงทุน แต่ว่าขาดทุน ในแง่ที่ว่าเราไม่ได้เม็ดเงินกลับมา แต่เราได้ข้อมูลวิชาความรู้ให้สำหรับคนรุ่นหลังได้ใช้

 

วิยะดา :           สุดท้ายนี้อยากให้พี่แมวช่วยฝากอะไรถึงสมาคมจดหมายเหตุไทยในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ค่ะ

 

นัยนา :        อยากให้สมาคมฯ มุ่งมั่นในประณิธานเมื่อแรกตั้งว่า จะเป็นที่สำหรับรวมนักวิชาการและนักวิชาชีพจดหมายเหตุ และขอให้เติบโตอย่างมั่นคงเป็นกำลังสำคัญองค์กรหนึ่งของชุนชนคนเห็นคุณค่าวิชาชีพจดหมายเหตุ เอกสารจดหมายเหตุและเอกสารสำคัญของชาติ และนำพาจดหมายเหตุของเราให้ไปทัดเทียมกับจดหมายเหตุนานาชาติ ซึ่งเราก็ไม่น่าจะไกลจากตรงนั้นเท่าไรเพราะเราก็ทำได้ค่ะ

 

วิยะดา :    ในนามของสมาคมจดหมายเหตุไทย ต้องขอบพระคุณพี่แมวเป็นอย่างสูงค่ะ ที่ได้กรุณาเข้ามาร่วมกับสมาคมฯ ให้ความรู้ รวมทั้งให้ความร่วมมือต่างๆ ด้วยดีมาตลอด และในวันนี้ยังให้เกียรติมาสัมภาษณ์แก่สมาคมจดหมายเหตุไทยในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ด้วยก็ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 

นัยนา :            ยินดีค่ะ


 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *